Friday, September 09, 2005

ดาร์จีลิ่ง-สิกขิม (ตอนที่ ๑)

บันทึกความทรงจำครั้งหนึ่งในชีวิต
ณ เมืองดาร์จีลิ่ง (Darjeeling) เมืองในฝันแห่งแดนหิมาลัย
****************

การมาเยือนเมืองดาร์จีลิ่ง (Darjeeling) ครั้งนี้ ตั้งใจมาแสวงหาความสงบใช้เวลาในการฝึกฝนอบรมจิตใจ ประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อพักผ่อนเป็นการส่วนตัว และอ่านหนังสือ, พิมพ์โน๊ตเตรียมสอบ Ancient Indian & Asian Studies ซึ่งได้หอบหิ้วโน๊ตย่อ และข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งหนังสือที่เกี่ยวกับการอีกหลายเล่ม โดยจะพิมพ์ข้อมูลลงเก็บไว้ที่คอมพิวเตอร์ ที่นำติดตัวมาด้วยในครั้งนี้
วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ เวลา ๔.๐๐ น. ออกเดินทางจากวัดไทยพุทธคยา โดยรถจี๊บตาต้าซูโม่ของอินเดียเป็นพาหนะที่จะนำพวกเราไปยังเมืองดาร์จีลิ่ง รัฐเวสท์เบงกอล คณะผู้ร่วมเดินทางมี ท่านพระครูศรีปริยัติสุนทร (พระมหาหนูปัน หรือ หลวงพ่อน้อย) เจ้าอาวาสวัดท่าพระ จ.ขอนแก่น จาก ม.มจร.วิทยาเขตขอนแก่น นักศึกษาปริญญาเอก(Buddhist Studies) มหาวิทยาลัยมคธ, อาจารย์โสวิทย์ นิยมภักดิ์ นักศึกษาปริญญาโท(Buddhist Studies) มหาวิทยาลัยมคธ, จาก ม.มจร.วิทยาเขตขอนแก่น, พระมหาพัน สุภาจาโร นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยมคธ, วัดไทยพุทธคยา (ผู้นำทาง) และข้าพเจ้าพระมหาถนัด อัตถจารี นักศึกษาปริญญาเอก(Buddhist Studies) มหาวิทยาลัยมคธ, พระธรรมทูตวัดไทยกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ผู้บันทึกการเดินทาง

ในการเดินทางครั้งนี้ ได้รับความอุปถัมภ์ด้านภัตตาหารเช้า เพล จากคณะแม่ชีวัดไทยพุทธคยา ได้จัดเตรียมอาหารให้ตั้งแต่เมื่อวาน และนอกจากนี้ก็มีอาหารแห้งประเภทน้ำพริก,มาม่า,ปลากระป๋อง จัดเตรียมให้ไว้ไปฉันที่บนภูเขาสูงเพราะจะต้องหุงหาอาหารช่วยตัวเองตลอดเวลาที่พักที่นั่น
รถวิ่งออกจากวัดไทยพุทธคยา ตั้งแต่เช้ามืดผ่านองค์พระเจดีย์พุทธคยาซึ่งมองเห็นแต่ยอดส่องสว่างด้วยแสงไฟฟ้ามองเห็นได้อย่างชัดเจน ก็ได้แต่ยกมือขึ้นไหว้กราบนมัสการลา ขออำนาจบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญแล้วในแดนพุทธภูมิทั้งในอดีต และปัจจุบัน จงช่วยอำนวยพรให้การเดินทางในครั้งนี้ไปถึงจุดหมายปลายทางด้วยความปลอดภัย และอย่าได้มีอุปสรรคใดๆ มาขวางกั้นถึงที่หมายด้วยความสวัสดี
รถวิ่งเร็วรี่ออกนอกเมืองพุทธคยาเลียบริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราอันแห้งขอดซึ่งมองเห็นแต่เม็ดทรายขาวโพลน เมื่อกระทบกับแสงจันทร์ในคืนวันเพ็ญในวันนั้น ไกลออกไปหน่อยก็ยังมองเห็นทิวเขาดงคสิริเป็นแนวยาว เห็นเป็นเงาเลือนรางในยามใกล้ฟ้าสาง
เช้านี้อากาศเย็นลงพอสมควร เพราะอากาศที่พุทธคยายังไม่ร้อนเหมือนเมืองไทย นี่ก็เดือนมีนาคมแล้วยังรู้สึกหนาวในตอนกลางคืนและจะอุ่นขึ้นในตอนกลางวันเท่านั้น รถวิ่งไปตามถนนสายเมืองคยา กับเมืองนาลันทา ด้วยระยะทางประมาณ ๗๐ กิโลเมตร แต่สภาพผิวการจราจรแย่มาก ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อขรุขระมาก แต่ก็ดีหน่อยที่เป็นตอนเช้ามืดไม่ค่อยมีรถวิ่งสวนทางมาก หรือแออันจอแจด้วยวัว ควาย และผู้คนเดินถนนเหมือนในตอนกลางวัน
ท้องฟ้าเริ่มสาง มองเห็นแสงเงินแสงทองจับขอบฟ้าทางด้านทิศตะวันออก ชาวบ้านเริ่มออกไปทำกิจส่วนตัว ซึ่งเป็นธรรมเนียมของชาวอินเดียในชนบทจะไม่มีส้วม หรือห้องน้ำไว้ในบ้าน เพราะฉะนั้นทุ่งนาจึงเป็นสถานที่ปลดทุกข์ได้ดีที่สุด จึงเป็นที่มาของคำนิยามที่ว่า “อินเดีย เมืองฐานข้างถนน” หรือ “อินเดีย เมืองที่ส้วมใหญ่ที่สุดในโลก (ก็ทุ่งนานี่ครับ)
รถวิ่งผ่านท้องนาอันเวิ้งว้างกว้างไกลมองสุดสายตา และในช่วงนี้เป็นฤดูกาลที่ชาวนาเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว แต่พื้นที่ทำการเกษตรของชาวอินเดียก็ไม่เคยว่างเว้น ชาวไร่ชาวนา เริ่มปลูกผัก และพืชพันธุ์ต่าง ๆ มองดูทั่วท้องทุ่งเขียวชะอุ่มไปหมด บรรยากาศเช้าวันนี้สุดแสนจะสดชื่น มองออกไปเห็นดวงอาทิตย์กลมโตสีแดง กำลังโผล่ผ่านควันเมฆหมอกในยามเช้า บวกกับควันไฟที่กำลังลอยพวยพุ่งขึ้นจากหลังคาบ้านดินเหนียวของชาวนาอินเดีย ซึ่งก็เป็นเวลาหุงหาอาหารในยามเช้า
ควันไฟสีขาวอันเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงชนิดพิเศษของชาวบ้านก็คือ มูลโคซึ่งขยำผสมกับใบไม้แห้ง หรือฟางข้าว แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง แล้วนำมาเป็นเชื้อเพลิง ใช้ก่อไฟหุงหาอาหารได้เป็นอย่างดี และมีคำพูดว่า “จาปาตีของแขก ถ้าไม่ได้ปิ้ง(ย่าง)ไฟที่เกิดจากการเผาไหม้ขี้วัวแห้งแล้วละก็เป็นแค่แป้งลนไฟเท่านั้น” (คือไม่มีรสชาดจริงๆ)
นี่ก็คือความลงตัวหรือความสมดุลย์ทางธรรมชาติของชาวอินเดีย ซึ่งอยู่กับธรรมชาติ กิน,นอนกับธรรมชาติ มีวิถีชีวิตที่ผสมกลมกลืนกับธรรมชาติ โดยไม่พึ่งพาเทคโนโลยีสมัยใหม่เลย
รถวิ่งผ่านเข้าประตูเมืองเห็นกำแพงเมืองราชคฤห์(เก่า) แห่งแคว้นมคธ ที่เคยเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในอดีตสมัยพระเจ้าพิมพิสารผู้ปกครองโดยธรรม และเคยเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกองค์สำคัญของพระพุทธศาสนา และเมืองราชคฤห์นี้ก็เคยเป็นที่เจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในยุคต้นพุทธกาล แต่มาบัดนี้ก็คงเหลือแต่ร่องรอยแห่งความทรงจำในอดีต ได้เล่าขานกันเป็นตำนาน และศึกษาเล่าเรียนกันแต่ในนิทานชาดกต่าง ๆ ในพระไตรปิฎกเท่านั้น ในปัจจุบันก็คงเหลือแต่ซากปรักหักพังไว้ให้เราได้ศึกษา และมารำลึกถึงเพื่อเตือนความทรงจำเท่านั้น
พอรถวิ่งผ่านแนวกำแพงเก่าเข้าไปได้สักระยะหนึ่งก็มองเห็นซากปรักหักพังของวัดเก่าแก่ ซึ่งได้มาขุดค้นพบในภายหลัง และร่องรอยของล้อเกวียนของพ่อค้าพาณิชย์ในสมัยพุทธกาล ซึ่งพวกเราสามารถมองเห็นเป็นรอยร่องลึกเป็นแนวทางเกวียนซึ่งปรากฎเป็นหลักฐานอยู่ในปัจจุบันนี้
และรถได้วิ่งผ่านซุ้มประตูทางขึ้นเขาคิชฌกูฎ พวกเราก็ได้แต่ยกมือไหว้สถานที่ ที่พระองค์เคยประทับที่พระคันธกุฎี บนยอดเขาหัวนกแร้งนั้น และก่อนจากเมืองทางด้านทิศเหนือ รถต้องวิ่งผ่านวัดเวฬุวันมหาวิหาร ซึ่งเป็นพระราชอุทยานสวนไม้ไผ่ของพระเจ้าพิมพิสาร ถวายเป็นวัดแห่งแรกในทางพระพุทธศาสนา ปัจจุบันยังมองเห็นกอไผ่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นตามแนวกำแพงที่สร้างขึ้นใหม่
รถจี๊บตาต้าซูโม่ วิ่งผ่านเมืองราชคฤห์ใหม่ ได้ผ่านหมู่บ้านขายขนมขาชา ขนมที่เก่าแก่ในสมัยพุทธกาล(ขนมเบื้อง) แล้วจากนั้นก็เข้าสู่เขตเมืองนาลันทา โดยไม่มีการหยุดพัก เพราะยังเช้าอยู่
รถจึงวิ่งได้อย่างสบายผ่านบ้านเล็ก เมืองน้อย ผ่านตลาดบ้าง ย่านชุมชนบ้าง จนกระทั่งเวลาล่วงเลยถึง ๘.๓๐ น. ได้เวลาฉันภัตตาหารเช้า จึงได้หยุดพักข้างทางในที่อันเหมาะสมคือ โภชนาลัย (ร้านอาหาร) ของชาวชนบทอินเดียนั่นเอง
ร้านอาหารของชาวชนบทอินเดีย จะไม่ค่อยเปิดแต่เช้า อย่างเช้าที่สุดก็ประมาณแปดนาฬิกาไปแล้ว จึงจะเห็นควันไฟโขมง(จุดฟืนทำจากขี้วัวแห้ง) เพื่อจะปิ้งแป้งจาปาตี และแกงดาล (แกงถั่ว) ซึ่งเป็นอาหารหลักของชาวอินเดีย และที่จะขาดไม่ได้คือจาย หรือ ชาร้อน ๆ ผสมน้ำนมแพะ-นมวัว หรือ ควาย ตามแต่จะหาได้ วิธีชงเขาจะต้มนมสดจนเดือดแล้วจะผสมชาผงมีกลิ่นเครื่องเทศสำหรับเติมชาแล้วเติมน้ำตาลทรายขาว พอหวาน ตามสไตล์อินเดีย ก็จะได้รสชาดชาอินเดียจริง ๆ ขนานแท้ จะมีให้ดื่มได้ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นตามรายทาง,ร้านอาหาร,หรือย่านชุมชน แม้กระทั่งบนรถยนต์ รถไฟ ก็มีไว้บริการเสมอ เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของชาวอินเดีย
พวกเราก็ได้แวะทำภัตตกิจฉันเช้า ซึ่งมีข้าวผัด และปลาสลิดทอด น้ำพริกเผา ที่คณะแม่ชีวัดไทยพุทธคยา จัดเตรียมไว้ให้แต่เมื่อวาน ที่ร้านนี้อาศัยว่ามีโต๊ะเก้าอี้นั่งสบายหน่อย และก็ไม่ลืมสั่งจายร้อน ๆ มาดื่มแก้หนาวด้วย คิดว่าจะฉันจาปาตีร้อน ๆ ในตอนเช้าก็เลยสั่งมาลอง แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มาสักที จนกระทั่งพวกเราฉันเสร็จ มาทราบภายหลังว่ายังนวดแป้งไม่เสร็จ และถ่านไฟยังไม่ร้อนได้ที่ พวกเราก็เลยอดไปฉัน หลังจากทำภัตตกิจเสร็จแล้วก็ออกเดินทางต่อไป
ออกจากร้านอาหารรถวิ่งไปตามถนนสายหลักของเมืองนี้ สภาพถนนดีขึ้นเรื่อย ๆ มุ่งหน้าขึ้นไปทางเหนือของรัฐพิหารอันกว้างใหญ่ไพศาล และแห้งแล้งเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ชาวบ้านส่วนใหญ่ยากจน อาชีพทำการเกษตร แต่สภาพพื้นที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวย ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก จะมองเห็นจากบริเวณที่ใกล้แม่น้ำคงคา แถว ๆ เมืองปัตนะ หรือเมืองปาฏลีบุตรในอดีตที่พระพุทธเจ้าเคยพยากรณ์ไว้ว่าจะประสบอุทกภัย คือภัยอันเกิดจากน้ำท่วม เพราะเวลาที่มีน้ำหลากมากก็จะไม่มีอะไรต้านทานได้ น้ำได้ไหลบ่าท่วมทับไร่นา บ้านเรือนราษฎรเสียหายล้มตายเป็นจำนวนมาก แม้ในปัจจุบันก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่เนือง ๆ
รถวิ่งผ่านทุ่งนาอันเวิ้งว้าง และหมู่บ้านเล็กหมู่บ้านป่า ผ่านเมืองใหญ่น้อยใช้เวลากว่าครึ่งวันจึงพ้นเขตรัฐพิหาร แล้วเข้าเขตรัฐเวสท์เบงกอล (West Bengal) จุดหมายปลายทางของเราในวันนี้คือเมืองสิลิคูรี่ (Siliguri) เป็นเมืองชายแดนด้านเหนือของรัฐเวสท์เบงกอล ก่อนที่จะปีนภูเขาสูงขึ้นสู่เมืองดาร์จีลิ่ง(Darjeeling) เมื่อถึงเมืองนี้แล้วเราต้องให้รถที่เช่ามากลับไปพุทธคยา ส่วนการขึ้นภูเขาที่ดาร์จีลิ่ง ต้องเช่ารถในพื้นที่ที่คนขับมีความชำนาญในการปีนเขาสูงจึงจะปลอดภัย
เมื่อผ่านเข้าเขตรัฐเวสท์เบงกอล บรรยากาศจะเปลี่ยนไป รวมทั้งอาคารบ้านเรือน ต้นไม้ ไร่นา ผู้คน และสำคัญอากาศจะเปลี่ยนเป็นเย็นชื้นขึ้นเรื่อย ๆ เพราะใกล้ภูเขาสูง บ้านเรือนที่เคยเห็นเป็นบ้านอิฐฉาบด้วยดินเหนียวที่เห็นจนชินตาแถวรัฐพิหาร ก็จะเปลี่ยนเป็นบ้านฝาไม้ไผ่สานขัดแตะอย่างสวยงามมีศิลปะในการออกแบบและก่อนสร้างเป็นพิเศษ และรูปร่างหน้าตาของผู้คน ก็จะแตกต่างไปจากคนทางรัฐพิหาร หรือที่เรียกว่าพวกพิหารี ซึ่งก็มีชื่อเสียงในทางดุร้าย ป่าเถื่อน และมีหน้าตาขี้เหร่ อันนี้ก็มีเรื่องเล่าว่า “คนในรัฐพิหารนั้นต้องคำสาปจากพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์นั่นแหละมีคำกล่าวว่า ในรัฐพิหารนี้บนภูเขาก็อย่าให้มีต้นไม้ ในแม่น้ำก็ขอให้มีแต่กรวดแต่ทราย มีผู้หญิงผู้ชายก็ขอให้ขี้ริ้วขี้เหร่(ดุร้ายด้วย)” ก็ไม่ทราบว่าชาวพิหารีไปทำอะไรให้พระเจ้าผิดใจจึงได้ต้องคำสาปเช่นนั้น
แต่เมื่อพิจารณาดูตามคำที่กล่าวนี้แล้วก็ดูจะเป็นจริงในยุคสมัยนี้ คือบนภูเขานั้นหาต้นไม้ไม่มีเลยเป็นแต่เขาหัวโล้นไปหมด สมัยที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปบำเพ็ญทุกรกิริยา แถบภูเขาดงคสิริ นั้นอุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นไม้และพืชพันธุ์นานาชนิด ดังที่ท่านพรรณนาไว้ในพระไตรปิฎกว่า “เป็นสถานที่สงบร่มรื่นด้วยต้นไม้ ป่าเขา ลำเนาไพร ลำธารน้ำใสไหลเย็น เป็นที่รมณียสถาน ส่วนแม่น้ำเนรัญชราก็ไหลเรื่อยเต็มฝั่ง มีท่าลงอาบน้ำเป็นหาดทรายขาวสะอาดราบเรียบ เป็นอันดี”
แต่ปัจจุบันนี้น้ำในแม่น้ำเนรัญชราแห้งขอดมองเห็นแต่เม็ดทรายเต็มแม่น้ำไปหมด และผู้คนในรัฐพิหารนี้ก็มีรูปร่างเล็ก ผิวดำ หน้าตาดุดัน น่ากลัว ดังที่พรรรณาไว้แล้ว
ส่วนคนชาวเมืองสิลิคูรี่ รัฐเวสท์เบงกอลนี้ จะมีหน้าตาเหมือนชาวเนปาล คือเป็นเชื่อสายมองโกลอยเป็นชาวผิวเหลืองเหมือนพวกคนไทย, คนลาว, พม่า, เวียตนาม, จีน, ทิเบต เป็นต้น จะมีความแตกต่างทั้งรูปร่างหน้าตา ภาษาพูด(Nepalese) และความเป็นอยู่โดยทั่วไป
ส่วนลักษณะภูมิศาสตร์ที่เห็นได้ชัดก็เป็นพื้นที่ภูเขาสูง มีแม่น้ำใสไหลเย็นอยู่ตลอดเวลา(เกิดจากหิมะละลายบนยอดเขาสูง) มีต้นไม้ต้นใหญ่ใบดกเขียวชะอุ่มตลอดปี และที่เด่นเป็นเอกลักษณ์คือไร่ชาสีเขียวชะอุ่มมองสุดสายตา ซึ่งก็เป็นวัฒนธรรมของชาวตะวันตกที่นิยมดื่มน้ำชา เมื่ออังกฤษเข้าปกครองอินเดียจึงส่งเสริมให้มีการปลูกใบชาบนภูเขาสูงที่มีสภาพอากาศเอื้ออำนวย จนกลายเป็นอุตสาหกรรมทำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี และปัจจุบันมรดกทางวัฒนธรรมนี้ก็ยังคงอยู่ในประเทศอินเดียและคนอินเดียก็นิยมดื่มชา หรือ จาย อยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง ตราบเท่าทุกวันนี้
เข้าสู่แดนหิมพานต์
พอรถจี๊บวิ่งผ่านตัวเมืองสิลิคูรี่(Siliguri) ที่แออันจอแจไปด้วยยวดยานพาหนะและผู้คนในยามเย็น รถวิ่งออกสู่นอกเมืองต้องวิ่งข้ามสะพานมีแม่น้ำขนาดใหญ่ แต่ฤดูนี้น้ำยังไม่มากเนื่องจากอากาศยังหนาวหิมะยังไม่ละลาย ที่ริมฝั่งเป็นหาดทรายมีรถบรรทุกมาขนเอากรวด และทรายไปใช้ในการก่อสร้าง พอพ้นแม่น้ำก็เข้าสู่เขตอนุรักษ์ป่าไม้ซึ่งเป็นชายป่า มีต้นไม้ใหญ่ ๆ คงจะปลูกเพิ่มเติมในภายหลัง และได้รับการดูแลจากทางรัฐบาลกลางของอินเดีย ที่ติดกับป่าสงวนนี้เป็นค่ายทหารขนาดใหญ่ เพราะว่าเมืองสิลิคูรี่นี้เป็นเมืองชายแดนติดกับเนปาล จึงเป็นที่ตั้งกองทหารของอินเดียเอาไว้คอยปกป้องอธิปไตย
พอผ่านเข้าเขตป่าตรงนี้ก็ทำให้คิดถึงเรื่องในชาดกต่าง ๆ เช่นพระเวสสันดรชาดก ตอนที่พระเวสสันดรถูกเนรเทศออกจากกรุงสีพี แล้วเสด็จดำเนินด้วยพระบาทเปล่าพร้อมด้วยพระนางมัทรี และชาลี-กัณหาไปบำเพ็ญพรตที่ภูเขาคีรีวงกตในป่าหิมพานต์ ก็ต้องผ่านประตูป่า คือป่าเล็ก (จุลพน) ป่าใหญ่ (มหาพน) ในบทประพันธ์กวีท่านจะพรรณนาชื่อต้นไม้ ดอกไม้ รวมทั้งสัตว์ป่าประเภทนกต่าง ๆ และ ลิง ค่าง บ่าง ชะนี เก้ง กวาง เป็นต้น
นี่ก็เหมือนกันที่พวกเราได้พบเห็นเป็นครั้งแรกรู้สึกตื่นต้น และชื่นชมกับธรรมชาติที่แปลกและแตกต่างจากที่เราเคยเห็น มีต้นไม้นานาชนิดที่ไม่เคยเห็นที่พื้นราบ รวมทั้งไม้ดอกบางชนิดที่เราเห็นแต่ในกระถางจนชินตา เช่นกล้วยไม้ชนิดต่าง ๆ ที่บ้านเราซึ่งดูเหมือนเป็นสิ่งประดิษฐ์ของน้ำมือมนุษย์ไปเสียแล้ว แต่นี่เป็นกล้วยไม้ป่า ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีอยู่ทั่วเต็มไปหมดตามกิ่งไม้บ้าง โขดหินบ้าง มีดอกเล็กดอกใหญ่ ต่างสีสรร ต่างพันธุ์ ขึ้นแข่งกันชูช่อล่อสายลมและแสงแดดในยามเย็น เหมือนกับจะเชื้อเชิญให้แขกผู้มาจากแดนไกลได้เชยชม
ผ่านประตูป่า ก็ขึ้นสู่ภูเขาสูงซึ่งเป็นภูเขาที่สูงชันและใหญ่โตติดต่อกันเป็นเทือกหลายร้อยยอด มีชื่อและระดับความสูงต่าง ๆ กัน รวมเรียกว่า “เทือกเขาหิมาลัย” รถจี๊บที่เป็นยานพาหนะของพวกเราวิ่งลัดเลาะไปตามถนนที่แคบและคดเคี้ยวตามไหล่เขาที่สูงชัน มองลงเบื้องล่างก็จะเป็นเหวลึกน่าหวาดเสียว จากเขาลูกนี้ไปยังเขาลูกโน้น และยังมีอีกตั้งหลายลูกซ้อนกันขึ้นไป ซึ่งอยู่ในระดับความสูงจากน้ำทะเลตั้งแต่ ๕,๐๐๐ ฟุต ถึงระดับ ๒๔,๐๐๐ ฟุต
รถจี๊บวิ่งไต่ระดับความสูงบนยอดเขาขึ้นไปเรื่อย ๆ ได้เวลาพลบค่ำพอดี เมื่อพวกเราพ้นเขตสู่ประตูป่าพระอาทิตย์ได้ลับเหลี่ยมเขาไปเสียแล้ว คงทิ้งไว้แต่แสงสีทองเรือง ๆ จับที่ก้อนเมฆก้อนสวยแปลกตาทางทิศตะวันตกเท่านั้น ความมืดเริ่มแผ่เข้าปกคลุมทุกพื้นที่แม้แต่บนภูเขาสูงและเหวลึก คงมีแต่แสงไฟฟ้าและแสงตะเกียงน้ำมันก๊าดตามบ้านเรือนที่มองเห็นแต่ไกล ๆ ที่เริ่มจะส่องแสงระยิบระยับเข้ามาแทนที่แห่งความมืดมิดในยามราตรี
รถจี๊บวิ่งเร็วไปเรื่อย ๆ ตามถนนที่คดเคี้ยว บางครั้งก็มีรถวิ่งสวนทางมาก็ต้องจอดหลบแล้วก็วิ่งต่อไปโดยไม่มีการหยุดพัก มองดูตามไหล่เขาเห็นแต่แสงไฟฟ้าจากหลอดเล็กๆ ลอดออกมาจากช่องหน้าต่างของบ้านหลังเล็กหลังน้อย ที่ปลูกเบียดเสียดกันตามไหล่ถนน, ไหล่เขา, เชิงผาสูง เพราะมีพื้นที่จำกัด บางแห่งก็เป็นโรงแรม, เป็นร้านค้า, บางแห่งก็เป็นเกสท์เฮ้าส์ ที่สร้างไว้บริการนักท่องเที่ยว บางตึกก็สร้างขึ้นเป็นหลายชั้นแล้วแต่จะมีพื้นที่อำนวย มองดูแล้วก็สวยงามไปอีกแบบหนึ่งที่ได้เห็นเมืองดาร์จีลิ่งที่มีแสงสีแปลกตาในยามราตรี
ดาร์จีลิ่ง (Darjeeling) เมืองในฝันบนเทือกเขาหิมาลัย
ดาร์จีลิ่ง (Darjeeling) ดินแดนแห่งภูเขาสูง ไร่ชาสวย น้ำตกใส ดอกไม้งาม น้ำใจดี (ผู้คน) เป็นแดนดินถิ่นไกลในฝันที่คนทั้งหลายใฝ่ฝันที่จะมาเยือนดินแดนมหัศจรรย์บนเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้สักครั้งหนึ่งในชีวิต ขึ้นชื่อว่าภูเขาหิมาลัยน้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก และน้อยคนนักที่จะไม่อยากไปเห็นและสัมผัสดินแดนมหัศจรรย์นี้ ซึ่งด้านความสูงนั้นถือว่าเป็นหลังคาโลกเลยทีเดียว มีเรื่องเล่าขานทั้งเป็นตำนาน และชาดกต่าง ๆ ในคัมภีร์ทางศาสนาทั้งพุทธ และพราหมณ์กันมายาวนาน รวมทั้งเรื่องจริงที่เป็นสารคดี และบันเทิงคดีที่กล่าวขานถึงเทือกเขาหิมาลัย มีให้เห็นกันอยู่เป็นประจำในปัจจุบัน และภูเขาที่มีชื่อเสียงและสูงที่สุดในโลกคือ ยอดเขาเอฟเวอร์เรสท์ (Everest) มีความสูงถึง ๒๗,๔๒๘.๘๐ ฟุต ก็อยู่ในเทือกเขาหิมาลัยนี้ แต่อยู่ในเขตของประเทศเนปาล รวมทั้งยอดเขาดาร์จีลิ่ง ก็อยู่ในเทือกเขามหัศจรรย์นี้ด้วยเหมือนกันแต่อยู่ในเขตประเทศอินเดีย (West Bengal)

เข้าสู่เมืองสวรรค์บนดิน
เมืองดาร์จีลิ่งที่เราจะไปพักในครั้งนี้อยู่บนยอดเขาสูงจากระดับน้ำทะเลถึง ๖,๕๑๐ ฟุต เรียกว่าเป็นเมืองที่อยู่ในระดับความสูงมากทีเดียว มีอากาศหนาวเกือบตลอดปี และเย็นสบายดีในหน้าร้อน แต่หน้าหนาวก็มีหิมะตกเหมือนกัน เป็นเมืองที่มีภูมิประเทศสวยงามด้วยวิวทิวทัศน์มีภูเขาสูงเป็นฉากหลัง ความสลับซับซ้อนของยอดเขาดูแล้วสวยงามแปลกตาในทุก ๆ บรรยากาศที่ได้พบเห็น
เมืองดาร์จีลิ่ง เป็นเมืองที่ชาวอังกฤษขึ้นมาสร้างไว้เป็นเมืองตากอากาศบนยอดเขาสูง ในสมัยที่เข้าปกครองอินเดีย และได้สร้างเมืองกัลกัตตาเป็นเมืองหลวง ในฤดูร้อนอากาศจะร้อนมากบรรดาพวกข้าราชการ หรือข้าหลวงสมัยนั้นจึงได้ขึ้นไปสร้างเมืองดาร์จีลิ่งเป็นเมืองพักผ่อนหนีร้อน และผู้คนก็ตามขึ้นไปสร้างบ้านเรือนอยู่บนยอดเขาแห่งนี้ และจับจองในที่ที่สวยงามเหมาะสมสามารถมองเห็นยอดเขา Everest แห่งเทือกเขาหิมาลัย และยอดเขา Khangchendzonga ในรัฐสิกขิม ที่มีหิมะปกคลุมอยู่ตลอดปีเป็นฉากหลังที่สวยงามที่สุดเมื่อมองจากยอดเขาดาร์จีลิ่ง
เมืองดาร์จีลิ่งจึงเป็นแหล่งดึงดูดใจของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ไฝ่ฝันอยากมาสัมผัสบรรยากาศแห่งความสดชื่นของอากาศในยามเช้า ตอนพระอาทิตย์ขึ้นจะสวยงามที่สุด และความสวยงามของธรรมชาติภูผาสูง ป่าไม้สวย ไร่ชาเขียว น้ำตกใส น้ำใจงาม(สาว) สัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของคนภูเขาซึ่งมีความเชื่อและศรัทธาต่อภูเขาและต้นไม้(เสมือนบรรพบุรุษ) รวมทั้งความเคารพศรัทธาในศาสนาพุทธนิกายมหายาน, ศาสนาฮินดู และความเชื่อดั้งเดิมของคนพื้นเมืองที่นี่อย่างน่ามหัศจรรย์

นั่งรถไฟชมเมือง
ที่เมืองดาร์จีลิ่ง มีสถานีรถไฟที่สูงและเก่าแก่ที่สุด จนได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก จากองค์การยูเนสโก (UNESCO) เมื่อต้นปี ค.ศ. ๒๐๐๐ นี้เอง นั้นก็คือ Toy Train รถไฟขนาดเล็กที่ลากด้วยหัวรถจักรไอน้ำ ชาวอังกฤษเป็นผู้สร้างขึ้นมาบนภูเขาสูงแห่งนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๐๒ และปัจจุบันก็ยังใช้ได้ดีในการรับส่งผู้โดยสารชาวเมืองดาร์จีลิ่ง เมือง Ghoom เมือง Kurseong และเมืองอื่น ๆ ตลอดเส้นทาง จนถึงเมือง Siliguri โดยเฉพาะบริการนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติแค่ขึ้นไปนั่งถ่ายรูปก็คุ้มค่าแล้ว เพราะว่าเป็นของแปลกและมหัศจรรย์จริง ๆ ลำพังแค่สร้างถนนธรรมดาขึ้นไปบนยอดเขาสูงก็ยากลำบากพอดูอยู่แล้ว นี่เป็นการสร้างทางรถไฟ ขึ้นไปบนภูเขาสูงในระดับตั้งแต่ ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ ฟุต ยิ่งเป็นเรื่องมหัศจรรย์ เหมาะสมแล้วที่ได้รับประกาศในฐานะเป็นมรดกโลก (World’s Heritage)
วันนี้เป็นวันที่มีท้องฟ้าแจ่มใสไร้เมฆหมอก เมื่อเรายืนอยู่ที่สถานีรถไฟสามารถมองเห็นยอดเขา Khangchendzonga ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงอันดับสาม ในบรรดายอดเขาสูงแห่งเทือกเขาหิมาลัย อยู่ในรัฐสิกขิม มีหิมะปกคลุมอยู่ตลอดปี ถือเป็นสัญลักษณ์ของเมืองดาร์จีลิ่ง เพราะมองออกไปจะเห็นภูเขาสูงตระหง่านอยู่เบื้องหลังเป็นฉากธรรมชาติแห่งภูเขาหิมะที่สวยที่สุด และวันนี้พวกเราก็ได้บันทึกภาพแห่งความประทับใจไว้เป็นที่ระลึกด้วย
ข้าพเจ้าพร้อมด้วยคณะนัดเจอกันที่สถานีรถไฟดาร์จีลิ่งเพื่อนั่งรถไฟชมเมืองและชมวิวทิวทัศน์สองข้างทาง ผู้ร่วมเดินทางมีพระครูศรีปริยัติสุนทร, อาจารย์โสวิทย์ และลูกศิษย์จาก Himalayan Buddhist Society มีTachi, Dicky and Dawa เป็นผู้นำทางพาไปขี้นรถไฟขบวนพิเศษบริการนักท่องเที่ยวจากสถานีเมืองดาร์จีลิ่ง ไปลงที่สถานีเมืองเคอร์เซี่ยง(Kurseong) ขบวนรถไฟเล็กที่เรียกว่า Toy Train ใช้ลากด้วยหัวรถจักรไอน้ำชื่อขบวน สันตินิเกตัน กำหนดออกเดินทางเวลา ๐๙.๐๐ น. จากสถานีต้นทางซึ่งมีระดับความสูงจากน้ำทะเลถึง ๖,๘๑๒ ฟุต พวกเราได้เดินทางมาถึงสถานีก่อนเวลาเล็กน้อย บรรยากาศในตอนเช้าบริเวณสถานีรถไป จอแจไปด้วยผู้คนที่จะเดินทาง ชาวต่างชาติทั้งฝรั่งและคนพื้นราบที่ต้องการไปเที่ยวสัมผัสความหนาว และตามสองข้างทางรถไฟก็มีแม้ค้าพ่อค้านำของพื้นเมืองออกมาขายเหมือนตลาดสด เช่น พวกผักสดชนิดต่าง ๆ ผลไม้ และพวกอาหารการกิน สารพัดอย่างมีให้เลือก
เด็กนักเรียนเริ่มทยอยเดินกันมาเป็นกลุ่ม ๆ แต่งตัวด้วยเครื่องแบบของแต่ละโรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็ฯโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงจะมีชุดเครื่องแบบประจำโรงเรียนให้นักเรียนได้ใส่กัน มีสีสันสวยงามแปลกตา และดูดีเป็นระเบียบเรียบร้อย
ได้เวลาพนักงานบังคับรถไฟเรียกเราขึ้นไปนั่งตามเลขที่นั่งที่จองไว้ พวกเรานั่งเป็นกลุ่มในโบกี้เดียวกัน และที่พลาดไม่ได้ข้าพเจ้าก็ต้องจองที่ใกล้หน้าต่างเพราะต้องการจะเก็บภาพเด็ด ๆ อยู่แล้ว ทั้งภาพนิ่งและถ่ายวีดีโอด้วย
เมื่อได้เวลาพนักงานโบกธงเขียวให้สัญญาณออกรถได้ พนักงานขับรถไฟเปิดหวูดดัง หวู๊ด ๆๆ และปล่อยควันสีขาวพวยพุ่งออกจากท่อปล่องควัน เป็นกลุ่มควันที่ออกจากหม้อต้มน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้ไอน้ำในการขับเคลื่อนหัวรถจักร และยังใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการต้มน้ำอยู่ด้วยในช่วงที่รถรอเวลาออกเดินทางนั้น พวกพนักงานได้บรรจุถ่านหินเชื้อเพลิงและเติมน้ำอย่างเต็มที่ พวกเรายืนดูทุกขั้นตอนในการทำงาน รถไฟวิ่งไปตามรางเล็ก ๆ ที่คิดเคี้ยวไปตามไหล่เขา และตีคู่ขนานไปกับทางรถยนต์ เพราะว่าไม่มีที่ต้องออกแบบให้รถยนต์และรถไฟวิ่งไปด้วยกันได้บางช่วงรถยนต์ต้องหยุดให้รถไฟผ่านไปก่อน เป็นการท้อยทีถ้อยอาศัยกันไป รถไปวิ่งไปแบบช้า ๆ ประมาณ ๓๐ กิโลเมตร/ชั่วโมง มองเห็นทิวทัศน์สองข้างทางได้อย่างสวยงามและถนัดตา อีกด้านเป็นภูมเขาสูง(เพราะต้องขุดภูเขาทำถนน) และอีกด้านเป็ฯเหวลึก มองลงไปจะเห็นไร่ชาเขียวชอุ่มติดกันเป็นพืด เหมือนกับปูพรมสีเขียวทั้งผืนตามไหล่เขาหล่านั้นบางช่วงก็มีบ้านคนอยู่กันเป็นกลุ่ม และนิยมสร้างบ้านติดไหล่ถนน แต่ก็น่าเห็นใจเพระไม่มรที่ราบ และถ้าอยู่ไกลถนน การคมนาคมก็ไม่สะดวกเลยมาอยู่กันใกล้ ๆ ถนน เวลารถวิ่งสวนกันก็หวาดเสียเหมือนกันกลัวจะไปเฉี่ยวเอาลูกเล็กเด็กอดงที่วิ่งเล่นอยู่ข้างถนน รถไฟวิ่งลงภูเขามาเรื่อย ๆ ผ่านวัดดาลี่ เป็นวัดทิเบตที่ใหญ่มากวัดหนึ่งในบริเวณแถบนี้ทราบว่ามีพระลามะอยู่กันมากกว่า ๓๐๐ รูป เป็นสำนักเรียนพระธรรมคัมภีร์ของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนิกายกัมมะปะ (นิกายหมวกดำ) รถวิ่งผ่านมองเห็นแต่หลังคาตึกขนาดใหญ่ มุงด้วยกระเบื้องสีส้มตัดกับท้องฟ้าสีครวามสร้างอยู่บนภูเขาอีกด้านด้วยสถาปัตยกรรมแบบทิเบต สีสันสวยงามน่าเลื่อมใส
รถไปเข้าจอดรับ-ส่งผู้โดยสารอีกครั้งที่สถานีเมืองกูม (Ghoom) เป็นสถานีรถไฟที่สูงที่สุดในโลก (บันทึกไว้ในสถิติ) ที่เมืองนี้ถือว่าเป็นชุมทางถ้าเดินทางโดยรถยนต์ก็จะเป็นสี่แยก คือทางหนึ่งไปสิกขิม ทางหนึ่งไปประเทศภูฏาน อีกทางหนึ่งไปเมืองสิลิคูรี่ (ไปกัลลัตตา) และอีกทางหนึ่งไปเมืองดาร์จีลิ่ง รถออกจากสถานีนี้วิ่งไปตามไหล่เขาเหมือนเดิม แต่บรรยากาศที่สวยงามก็ทำให้ตื่นตาตื่นใจ แบะคอยบันทึกภาพอยู่เรื่อย ๆ

เมืองเคอร์เซี่ยง (Kurseong)
รถวิ่งเข้เทียบชานชาลาสถานีรถไฟเมืองเคอร์เซี่ยงเวลาประมาณ ๑๐.๓๐ น. พวกเราออกเดินชมตลาดซึ่งเหมือนกับร้านค้าที่เมืองดาร์จีลิ่ง สินค้าก็เหมือน ๆ กัน เดินชมไปเรื่อย ๆ จนถึงเวลาเพล จึงได้แวะร้านอาหารที่ดี ที่สุดของเมืองนี้ และได้สั่งอาหารอินเดียวแบบเต็มสูตรเลยทีเดียว เพราะไหน ๆ ก็มาถึงสถานที่จริงแล้วนี่ และอีกอย่างก็ตั้งใจจะเลี้ยงลูกศิษย์ที่มาอยู่แล้ว เพราะนานทีเขาจะได้มีโอกาสออกมาเปิดหูเปิดตาตามประสาเด็กบนภูเขาที่ไม่ค่อยจะมีโอกาสได้เดินทางไปไหน
เมืองเคอร์ซี่ยง ได้รับษายาว่าเป็นดินแดนแห่งดอกกล้วไม้ขาว (Land of White Orchids) เพราะว่ามีศูนย์เพราะพันธุ์ไม้ป่าเมืองหนาวมีความชำนาญพิเศษเรื่องการเพาะพันธุ์ดอกกล้วไม้ขาว และเป็นที่ตั้งของสถาบันการป่าไม้รัฐเบงกอลตะวันตก นอกจากนี้จุดเด่นของเมืองนี้คือ Kurseong Tower หอคอยชมเมือง เป็นทั้งเสาอากาศของการสื่อสารด้วยซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสูงมองเห็นเป็นสัญลักษณ์แต่ไกล พวกเราเดินชมเมืองจนทั่ว ได้เวลาประมาณบ่าย ๓ โมงกว่า ๆ แล้วนั่งรถธรรมดากลับได้บรรยากาศที่สวยงาม ชมบ้านเมือง, ชมภูเขา, ไร่ชาสวย และได้ถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก

บรรพบุรุษของคนภูเขา

ชาวดาร์จีลิ่ง และชาวคนภูเขาทั้งหลายมีความเชื่อว่า ภูเขา Khangchendzonga มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่สิงสถิตย์ของเทพเจ้าเหล่าเทวดาทั้งหลาย และถือว่าเป็นต้นกำเนิดหรือบรรพบุรุษของชนชาว Lepchas ในรัฐสิกขิม ในตอนเช้า ๆ เมื่อเวลาพระอาทิตย์ขึ้นแสงเงินแสงทองจะตกกระทบบนยอดเขาซึ่งมีหิมะปกคลุมจะเกิดการหักเหของแสง และเปลี่ยนสีไปเรื่อย ๆ จากสีเงินยวงในยามฟ้ามืดสลัว ๆ ก็จะกลายเป็นสีทองขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามแสงอาทิตย์ที่ร้อนแรงขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งพระอาทิตย์ผ่านชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นไปด้วยหมอกควันแล้วก็จะมองเห็นภูเขาหิมะนี้ด้วยสีธรรมชาติ คือเป็นสีขาวโพลนของหิมะและเหลี่ยมมุมของยอดเขาตัดกับท้องฟ้าสีน้ำเงินจะมองเห็นอย่างเด่นชัดน่าเกรงขาม ซึ่งมีความสูงถึง ๘,๕๙๘ เมตร หรือ ๒๖,๖๕๓.๘๐ ฟุต
ข้าพเจ้ามองเห็นภูเขาในเช้านี้จึงเกิดแรงบันดาลใจใคร่จะพรรรณาเป็นภาษาศิลป์ แต่ก็จนใจที่ภาษากวียังไม่ถึงขั้นก็เลยได้เก็บมาฝากเพียงแค่นี้ก่อน
โอ้…คังเซ็นชุงก้า(Khangchendzonga) น่าเกรงขาม ภูเขาสูงเด่นงามยามฟ้าใส
มองผ่านเมฆม่านหมอกเห็นแต่ไกล ศูนย์รวมใจคนภูเขาเหล่าเทวา
ภูผาสูงแดนดินถิ่นกำเนิด เป็นทีเกิดสัตว์นานาและอาหาร
เป็นที่เกิดน้ำตกใสไหลเป็นธาร เป็นที่รวมอาหารของปวงชน
เป็นศูนย์รวมสรรพสิ่งมีชีวิต ผลผลิตข้าวกล้าในหน้าฝน
ทั้งวัว ควาย พืชไร่และผู้คน ได้รับผลจากคีรีมีน้ำกิน
ภูผาสูงแดนดินถิ่นศักดิ์สิทธิ์ เทพสถิตปกป้องทุกแห่งหน
ภูเขาสูงที่อาศัยของผู้คน ในกมลเปี่ยมสุขทุกเวลา
ยอดคีรีมีสีหิมะขาว แสงแวววาวเวลามองท้องฟ้าใส
สัญลักษณ์บริสุทธิ์ดุจดวงใจ อยู่ภายในคนภูเขาเหล่าคนดอย
ยิ่งได้ยลยิ่งดลใจให้ได้คิด ในวิถีชีวิตคนภูผา
ด้วยเคารพเชื่อมั่นและศัรทธา ทุกเวลาค่ำเช้าเฝ้าไหว้วอน
เก็บดอกไม้ของหอมนอบน้อมจิต ไว้รอบทิศบนผูภาหน้าสิงขร
ทั้งสวดมนต์ก้มกราบตัวราบนอน เพื่อขอพรจากพระเจ้าเฝ้าอวยชัย
ได้ยินชื่อเลื่องลือมานานนัก เห็นประจักษ์เป็นบุญตาน่าฉงน
พลันเมฆบังหายลับในบันดล ชีวิตคนก็กลับหายคล้ายเมฆลอย
ได้พบเห็นเป็นบุญตาในครานี้ สุดเหลือที่จะพรรณนาภาษาศิลป์
ภูเขาสูง ไร่ชาสวย น้ำตกริน อีกเป็นถิ่นคนงามน้ำใจดี.

0 Comments:

Post a Comment

<< Home