Monday, September 19, 2005

ดาร์จีลิ่ง-สิกขิม (ตอนที่ ๒)




อาศรมสมถะ ณ เชิงเขาที่ Toong Soong

ตื่นตอนเช้ารับอรุณวันใหม่เปิดม่านออกไปจะเห็นดวงอาทิตย์โผล่พ้นยอดเขาสูงที่เรียกว่า "ไทเกอร์ ฮิลล์" (Tiger Hills) หรือภูเขาเสือลายพาดกลอน เป็นจุดสูงสุดและสามารถชมวิวได้ทั่วในแถบเทือกเขา ดาร์จีลิ่ง สามารถมองเห็นเทือกเขาหิมาลัยทั้งแถบ โดยเฉพาะยอดเขา "คังเซ็นชุงก้า" (Khangchendzonga) จะมองเห็นได้ชัดเจนมากในวันที่อากาศดีท้องฟ้าแจ่มใส ที่มาของชื่อภูเขาลูกนี้ก็คือ เป็นจุดชมวิวพระอา ทิตย์ขึ้นในยามเช้าตรู่ จะมองเห็นแสงสีต่าง ๆ อันเกิดจากแสงอาทิตย์ผ่านชั้นบรรยากาศ และเมฆหมอกจะ มองเห็นเป็นลายเหมือนลายเสือขึ้นจับขอบฟ้าก่อน และจึงกลายเป็นแสงสีอื่นๆ และรูปร่าง ต่าง ๆ แล้วแต่ชั้นบรรยากาศและอุณหภูมิของแต่ละฤดูกาล คนจึงตั้งชื่อยอดเขาลูกนี้ว่า "ไทเกอร์ ฮิลส์"

บ้านซึ่งเป็นที่พักหลังนี้ปลูกอยู่บนไหล่เขาสูงพอสมควรอยู่ด้านทิศตะวันออกของยอดเขาดาร์จีลิ่ง เวลาเช้าจึงได้เปรียบก่อนคือได้รับแสงอาทิตย์ก่อนที่อื่น ๆ เป็นบ้านของครอบครัวชาวพุทธเชื้อสายเนปาล ซึ่งได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เป็นชาวดอยที่ชอบอยู่บนภูเขาสูง ในครอบครัวนี้ มีพ่อ-แม่ และลูกสาว ๓ คน ลูกชาย ๑ คน คุณพ่อคุณแม่เกษียณแล้วอยู่ดูแลบ้านและเลี้ยงหลาน ๆ ลูกสาว คนโตชื่อ นามตา (Narmtar) แต่งงานแล้วมีอาชีพเป็นครูสอนโรงเรียนประถมในดาร์จีลิ่ง ลูกสาวคนรอง และลูกชายแต่งงานแล้วไปทำงานที่อื่น ส่วนลูกสาวคนเล็กชื่อ สลิตา(Salita) เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ในโรงเรียนนานาชาติที่เมืองไทย เพราะฉะนั้นครอบครัวนี้จึงมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับพระไทย และคนไทยเป็นอย่างดี
ในการมาพักครั้งนี้ได้รับการแนะนำจากท่านพระมหาพัน สุภาจาโร วัดไทยพุทธคยา ท่านเคยมาพัก เรียนภาษาอังกฤษที่ดาร์จีลิ่งเป็นเวลาหลายเดือนก็ได้รับการอุปถัมภ์จากครอบครัวนี้ด้วยดีทั้งที่พักและอาหาร เจ้าของบ้านได้ยกห้องพักพิเศษให้ ๑ ห้องแยกจากเจ้าของบ้านคนละชั้นมีประตูเข้าออกเป็นสัดส่วนเป็นห้อง ส่วนตัวใหญ่ขนาด ๒ เตียงนอน มีโต๊ะเขียนหนังสือ มีห้องน้ำในตัว และมีที่ทำครัวด้วย ที่สำคัญคือเป็นห้อง ยื่นออกไปทางทิศตะวันออกและมีแสงสว่างเข้าทั้งสองด้านชมวิวได้โดยรอบเงียบสงบเป็นที่ถูกใจสำหรับ ผู้ที่แสวงหาความสงบ และอ่านหนังสือ, เขียนหนังสือ ได้เป็นอย่างดี
เปิดม่านหน้าต่างรับอรุณในยามเช้าจะเห็นวิวสวยงามมากในตอนพระอาทิตย์กำลังขึ้นจะพ้นยอดเขา "ไทเกอร์ ฮิลส์" เป็นบรรยากาศที่ประทับใจมากๆ ในตอนที่แสงเงินแสงทอง จับขอบฟ้าซึ่งแต่ละวันจะ เปลี่ยนไปตามชั้นบรรยากาศ และอุณหภูมิ สวยเหมือนภาพในฝัน หรือภาพเขียนที่จิตรกร ผู้มีฝีมือดี ีได้บรรจงแต่งแต้มสีสรร ให้เจิดจ้าและนุ่มนวลอย่างลงตัว สวยงามจับใจจนยากที่จะหาคำบรรยาย

ในตอนเช้าเจ้าของบ้านจะส่งเด็กรับใช้ในบ้านนำชาร้อน ๆ และอาหารว่าง มาถวายก่อนอาหารเช้า และเตรียมน้ำใช้ น้ำฉันพร้อมด้วยทำความสะอาดห้องให้ด้วย ข้าพเจ้าบอกกับเจ้าของบ้านไว้ว่าไม่ฉันเช้า จะใช้เวลาช่วงนี้ออกเดิน(ออกกำลังกาย) เหมือนการออกเดินบิณฑบาตทุกๆ เช้าขึ้นไปบนยอดเขา ชื่อว่า Chowrasta ซึ่งอยู่สูงกว่าที่บ้านพักมากพอสมควรใช้เวลาเดินประมาณ ๑๕ นาที เพื่อขึ้นไปสวดมนต์, นั่งสมาธิ และฝึกโยคะด้วย ซึ่งก็ได้เริ่มปฏิบัติทุกวันไม่เคยขาดตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปอยู่




จอร์รัสตา (Chowrasta) จุดนัดพบของชาวดาร์จีลิ่ง

ตื่นนอนเวลาประมาณตี ๕ ทำกิจส่วนตัวเสร็จแล้วก็ออกเดินจากบ้านพักปีนเขาขึ้นไปบนยอดเขาสูงของ ดาร์จีลิ่ง คือ Chowrasta เป็นลานกว้างพอสมควร เป็นจุดนัดพบ เป็นที่นัดชุมนุมเหมือนลานเอนกประสงค์ ของคนเมืองนี้ ในตอนเช้า ก็เป็นที่เดินออกกำลังกาย ในตอนสาย ๆ ก็จะเป็นจุดนัดพบของนักท่องเที่ยว ที่จะไปที่ไหนลงจากเขาไปเหนือ-ใต้-ออก-ตก ก็จะมาเริ่มกัน ณ จุดนี้ก่อน รอบๆ ลานกว้างแห่งนี้ก็จะมีม้า นั่งเป็นแถวรอบ ๆ เป็นที่นั่งพักผ่อนและรอพบเพื่อนๆ และนอกจากนี้ก็ยังมีม้าไว้คอยบริการให้นั่งเที่ยวรอบ ๆ ลานนี้ด้วย คือเจ้าของม้าจะนำมาบริการนักท่องเที่ยวที่อยากลองขี่ม้าถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ส่วนมากก็จะเป็น เด็ก ๆ หรือไม่ก็คนที่ไปจากพื้นราบที่อยากหาประสบการณ์แปลก ๆ สนนราคาก็รอบละ ๑๐ รูปี

ตรงกลางของภูเขาลูกนี้ยังมียอดเขาสูงขึ้นไปอีกเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวเมืองคือเป็นศาสนสถาน ของฮินดู ชื่อวัดมหากาฬมัณดีร์(Mahakal Mandir) และถือว่าเป็นจุดชมวิว (Observatory Hill) สูงสุดของภูเขาดาร์จีลิ่ง นอกจากนี้รอบ ๆ ภูเขานี้ก็จะทำเป็นทางเดินโดยรอบ(ห้ามรถวิ่ง) เรียกว่า ดาร์จีลิ่ง มอลล์ (Darjeeling Mall) ให้ชาวเมืองได้มาเดิน-วิ่งออกกำลังกายในตอนเช้า ซึ่งก็เป็นสถานที่ดีมาก ยิ่งวันไหนอากาศแจ่มใสไร้เมฆหมอก มองไปด้านทิศเหนือของภูเขาลูกนี้ก็จะสามารถมองเห็นยอดเขา คังเซ็นชุงก้า(Khangchendzonga) ตั้งตระหง่านขาวโพลนด้วยหิมะปกคลุมอยู่ตลอดปี
ชาวเมืองนี้ถือว่ายอดเขาสูงเป็นที่สิงสถิตย์ของเทพเจ้าเหล่าเทวาทั้งหลายในตอนเช้าเมื่อออกจากบ้าน มาเห็นยอดภูเขาสูงก็ยกมือไหว้ (โดยเฉพาะ Khangchendzonga )สวดอ้อนวอนขอพร จากพระผู้เป็นเจ้า ตามความเชื่อของตน และอีกอย่างคือดวงอาทิตย์ หรือ สุริยเทพ เวลาเช้า ๆ ผู้คน(ฮินดู)ก็จะออกมาไหว้กัน เมื่อมองเห็นแสงดวงอาทิตย์ในยามเช้าถือว่าเป็นศิริมงคลแก่ชีวิต ดังคำกลอนที่กล่าวว่า ...
โอ้…คังเซ็นชุงก้า น่าเกรงขาม ภูเขาสูงเด่นงามยามฟ้าใส
มองผ่านเมฆม่านหมอกเห็นแต่ไกล ศูนย์รวมใจคนภูเขาเหล่าเทวา
ภูผาสูงแดนดินถิ่นศักดิ์สิทธิ์ ที่สถิตย์เทพเจ้าเฝ้าปกปักษ์
ภูเขาสูงเลื่องชื่อมานานนัก เห็นประจักษ์เบื้องหน้าพาสุขใจฯ

เมื่อมองเห็นภาพต่าง ๆ เหล่านี้แล้วก็อดนึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้ที่พระองค์เคยตรัสไว้ใน พระสูตรบท "เขมาเขมสรณทีปิกคาถา ที่ว่า มนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก เมื่อถูกภัย(คือความกลัว)คุกคามแล้ว ก็ถือเอาป่าไม้บ้าง ภูเขาบ้าง อาราม และรุกขเจดีย์บ้างเป็นสรณะ, นั่นมิใช่สรณะอันเกษมเลย นั่นมิใช่สรณะ อันสูงสุด เขาอาศัยสรณะนั้นแล้วย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้, แล้วพระองค์ก็ตรัสให้ถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะอันเกษม ว่าเป็นสรณะอันสูงสุด เขาอาศัยสรณะนั้นแล้วย่อมพ้นจาก ทุกข์ทั้งปวงได้" แม้อินเดียจะเป็นบ่อเกิดศาสนาพุทธ แต่ความเชื่อและประเพณีแปลก ๆ ต่าง ๆ ก็ยังปรากฏ ให้เห็นอยู่เป็นประจำ เพราะว่า
อินเดีย คือ แดนดินถิ่นพระเจ้า
อินเดีย มีหลายเผ่าหลายศาสนา
อินเดีย มีแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ชื่อคงคา
อินเดีย คือแดนภูผาหิมาลัย ฯ


ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองดาร์จีลิ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นชาวพุทธแบบมหายาน และเป็นชาวฮินดู นอกจากนั้นก็มีชาวคริสต์ (เจ้าของโรงเรียน หรือ วิทยาลัยที่มีชื่อของดาร์จีลิ่ง) และมีมุสลิมบ้างเล็กน้อย

ความใกล้ชิดเทพเจ้าของชาวฮินดู
บนยอดเขามหากาฬ มัณดีร์นี้(Mahakal Mandir) ถือว่าเป็นที่สถิตย์ของพระศิวะ(เขาไกรลาส) เป็นวัดของชาวฮินดู ซึ่งมีรูปเคารพอยู่หลายประเภทด้วยกัน คือ พระศิวะ มีรูปศิวลึงค์ เป็นเทพเจ้าที่ชาวฮินดูนับถืออย่างสูงสุด สาเหตุที่ชาวฮินดูเคารพศรัทธามากเพราะเป็นเทพเจ้าผู้ทำลาย คือจะต้องมาสวดอ้อนวอน ขอพร ทำการบูชา สักการะให้พระเจ้าทรงโปรด(ทำให้ถูกใจ) จะได้ประทานพรให้ มิใช่แต่ตัวท่านเท่านั้นที่ได้รับความเคารพ นับถือ แม้แต่ยานพาหนะของท่าน คือ โคนันทิ ก็ยังได้รับการบูชาสักการะจะสังเกตเห็นที่หน้าศาลรูปพระ ศิวะจะมีรูปโคนอน หรือยืนหมอบอยู่หน้าประตูทางเข้าก่อนเข้าหาพระเจ้า (ศิวะ)ก็ต้องไหว้พระพาหนะ ของพระองค์ก่อน ฉะนั้นวัวในประเทศอินเดีย จึงได้รับอภิสิทธิ์ในการเป็นอยู่อย่างอิสระ ไม่มีใครกล้าไปทำร้าย หรือทุบตี เพราะกลัวพระเจ้าจะลงโทษ ในเมืองต่างๆ ทั่วอินเดียจะเห็นวัวเดินตามถนน หรือเดินเพ่นพ่านในสถานที่ต่าง ๆ โดยได้รับการคุ้มครองดังกล่าวแล้ว
ในตอนเช้า ๆ ประชาชนชาวเมืองจะพกกันขึ้นไปไหว้พระขอพรเป็นประจำ บ้างก็เก็บดอกไม้ป่าตามข้างทางติดมือขึ้นไปไหว้พระเจ้าด้วย บ้างก็มีคณโฑน้ำนมสด และธูปเทียนของหอม เดินกันมาเป็นทิวแถว มีทั้งคนเฒ่าคนแก่ คนหนุ่มสาว รวมทั้งเด็ก ๆ ด้วย สองข้างทางขึ้นภูเขาก็จะมีผู้คนนำรูปเคารพต่าง ๆ มาวางเอาไว้ เช่น รูปภาพพระอิศวร(ศิวะ) พระแม่อุมาเทวี พระกฤษณะ พระนางสุรัสสวดี และรูปหนุมาน บางแห่งมีรูปพระพุทธเจ้าด้วย ให้ประชาชนได้วางดอกไม้บูชา และวางเงินเหรียญทำบุญ เป็นการหารายได้ของคนที่หากินแบบนี้อีกประเภทหนึ่งเหมือนกัน ซึ่งมีให้เห็นอยู่ทั่วไปตามวัดและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู
เมื่อขึ้นไปถึงยอดเขาซึ่งเป็นจุดสูงสุดแล้ว จะมีศาลาหรือคล้าย ๆ สถูปภายในศาลาที่ตั้งศิวลึงค์นั้นก็จะมีพราหมณ์ผู้ทำพิธีให้แก่ประชาชน(ชาวฮินดู) จะนั่งกล่าว (ร่ายมนต์) โองการอยู่ตลอดเวลา ผู้ที่มีน้ำนมไปก็จะรดลงที่รูปเคารพนั้น มีธูปหอม กำยาน ตะเกียงน้ำมันหอม และดอก ไม้ก็จัดการจุดบูชา และรับเจิมหน้าผากด้วยสีแดงและเมล็ดข้าวสาร จากพราหมณ์ผู้ทำพิธี แล้วจากนั้นก็ บริจาคเงินมากบ้างน้อยบ้างตามกำลังศรัทธา แล้วก็กลับบ้านด้วยความสบายใจ แต่ละซุ้มแต่ละศาลถัดจาก องค์กลางคือพระศิวะ ก็จะมีรูปเคารพของพระเจ้าองค์ต่าง ๆ เช่น ด้าน หน้าก็จะเป็นพระพิคเณศร์ ถัดไปก็จะเป็นพระนางอุมาเทวี อีกด้านหนึ่งก็จะเป็นพระนารายณ์ หรือพระ วิษณุ และอีกด้านหนึ่งก็จะเป็นเจ้าแม่กาลี ซึ่งเป็นเทพเจ้าประจำรัฐเวสท์เบงกอล โดยเฉพาะที่เมือง กัลกัตตา(Calcutta) ประชาชนจะให้ความเคารพนับถือรูปเคารพเหล่านี้มาก

การปฏิบัติของชาวพุทธมหายาน
อีกด้านหนึ่งของยอดเขานี้จะมีสถูปสีขาวแบบทิเบต ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนหน้าผาอีกด้านหนึ่ง ซึ่งรายรอบไปด้วยต้นสนภูเขาต้นใหญ่ใบสีเขียวสดตลอดปี ตัดกับสถูปสีขาวซึ่งตั้งสงบนิ่งอยู่อย่างน่าเกรงขาม เข้าใจว่าพระสถูปแห่งนี้จะเป็นที่บรรจุ พระธาตุ หรือคัมภีร์ที่สำคัญในพุทธศาสนานิกายมหายาน ซึ่งได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี ชาวพุทธทิเบต และชาวเนปาล ก็จะมาสวดมนต์เดินเวียนรอบพระสถูปนี้ มือก็นับลูกประคำ ปากก็ท่องคาถา "โอม มะณี ปัทเม หุม" ไปเรื่อย ๆ วันละเป็นหมื่น เป็นแสนรอบ ไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ ยิ่งสวดได้มากเท่าไร ก็ยิ่งเข้าใกล้ความเป็นพระโพธิสัตว์มากขึ้นเท่านั้น นี่เป็นความเชื่อของลัทธิลามะ หรือพระพุทธศาสนาแบบวัชรยาน จะมีการปฏิบัติแบบนี้ทั้งพระภิกษุ และฆราวาส

ธงคาถา และกงล้อธรรมจักร
จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งบนภูเขานี้ก็คือธงคาถา(จารึกคำสอนด้วยภาษาทิเบต) ของชาวพุทธทิเบต ที่นำขึ้นมาปัก และแขวนเป็นธงราว เต็มไปหมด มีสีแดง, สีขาว, สีเขียว, สีเหลือง และสีน้ำเงิน แทนธาตุทั้ง ๕ คือ น้ำ เหล็ก ไฟ ลม และดิน ธงเหล่านี้จะได้รับการปลุกเสกจากพระลามะก่อนจะนำไปปักหรือแขวน หรือบางครั้งก็ห้อยไว้บนต้นไม้สูงโดยเฉพาะที่ยอดเขาของดาร์จีลิ่งนี้จะมีธงคาถานี้เต็มไปหมดเพื่อถวาย เป็นพุทธบูชาคล้ายกับการสวดมนต์ และมีคติความเชื่อ ว่าเมื่อมีลมพัดธงคาถานี้โบกสะบัดไป ทางทิศใดก็จะได้นำแต่สิ่งที่เป็น สิริมงคลไปสู่ทิศนั้น นำความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย
บริเวณรอบ ๆ วัดหรือองค์เจดีย์ของวัดในนิกายลามะ จะมีกงล้อจารึกมนตรา หรือ บทสวดเป็นคาถาว่า “โอม มณี ปัทเม หุม” รอบ ๆมีลักษณะเป็นแท่งกลมขนาดต่าง ๆกัน มีทั้งเล็กและใหญ่แล้วแต่สถานที่ เคยเห็นบางวัด เช่นที่วัดตามังของชาวดาร์จีลิ่ง ที่ถนนกลางในเขตตุงซุง จะเป็นกงล้อขนาดใหญ่ มากต้องออกแรงหมุนอย่างแรงและจะมีระฆังใบเล็ก ๆแขวนไว้ข้าง ๆแท่งกงล้อ ข้างในมีกระดาษเขียนมนตราม้วนอยู่นับพันบท แกนกลางและแท่นยึดอยู่ด้านล่าง สามารถหมุนได้รอบ เมื่อหมุนครบ ๑ รอบระฆังจะดัง เขาให้หมุนครบ ๓ รอบ
บนแท่งกลมนี้เขาจะทาสีแดง หรือไม่ก็เคลือบได้ด้วยแผ่นทองเหลือง มีอักษรจารึกมนตราเป็นสีดำ ผู้คนที่มาสักการะจะเดินทักษิณาวรรตหมุนกงล้อนี้ไปเรื่อย ๆเหมือนกับไปสวดมนต์หลายพันบท บางหมู่บ้านจะทำกงล้อมนตราขนาดใหญ่บนทางน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขา ใช้ความแรงของสายน้ำเป็นพลังหมุนกงล้อ เพื่อให้เวทย์มนต์กระจายคุ้มครองหมู่บ้านได้ไม่รู้จบสิ้น

ลมพัดธงมนตรายามฟ้าสวย ดลใจด้วยตั้งจิตอธิษฐาน
ให้โลกมีสันติสุขทุกวันวาร ไม่ร้าวฉานรบรามุ่งฆ่าฟัน
หมุนกงล้อพระธรรมจบรอบทิศ ขอให้จิตสมมาตรปรารถนา
โลกสดสวยด้วยคนมีเมตตา ไม่บีฑาเบียดเบียนหมุนเวียนไป
ขอสายน้ำที่ไหลลงหมุนกงล้อ ช่วยสืบต่อพระธรรมนำสุขศานติ์
ให้มนุษย์มีธรรมะทุกคืนวัน เพิ่มสุขสันติ์ให้โลกนิจนิรันดร.

ความเชื่อเหล่านี้ ชาวตะวันตกอาจจะมองเห็นว่างมงายไร้สาระไม่มีเหตุผล แต่ความเชื่อและความลึกซึ้งทางด้านวัฒนธรรมของชาวตะวันออกเป็นเรื่องงดงามละเอียดอ่อน เป็นอุบายสอนคนอย่างหนึ่ง การอาศัยลมและน้ำวัตถุธาตุสำคัญที่เป็นองค์ประกอบของชีวิต ถ่ายทอด บทสวดมนต์ไปยังสรรพสัตว์ทั่วทุกทิศไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณเป็นเรื่องน่าประทับใจ และมองเห็นถึงความเมตตากรุณาในจิตใจของชาวพุทธ และการทำอย่างนี้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ เป็นจิตวิทยาชั้นสูงที่ใช้ได้กับชุมชน ให้มีศูนย์รวมใจเป็นหนึ่งเดียว อย่างน้อยการใฝ่ใจกับ การสวดมนต์ภาวนาก็ช่วยนำความสงบเย็นมาสู่จิตใจ ขจัดความคิดฟุ้งซ่าน และลืมความทุกข์ยากไปได้ ไม่ต้องอาศัยยาเสพย์ติด ยากล่อมประสาท เหมือนคนในสังคมที่เจริญ(ด้านวัตถุ)แล้วอย่างเช่นในปัจจุบัน

การประพฤติปฏิบัติของชาวเมืองนี้เป็นบรรยากาศแห่งการผสมผสานระหว่างศรัทธา คือความเชื่อ ของศาสนิกชนในแต่ละศาสนาได้ขึ้นมาปฏิบัติร่วมกัน ถึงแม้จะมีความเชื่อถือและแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกันอย่างไรก็ตาม แต่ก็มีจุดมุ่งหมายอันเดียวกัน นั่นก็คือต้องการให้ชีวิตมีความสุข ความเจริญ ปราศจากโรคภัย ไข้เจ็บเบียดเบียน สรุปแล้วก็คือต้องการที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกสันนิวาสนี้อย่างมีความสุขด้วยกันทุกคน สุดแท้แต่ว่าจะ หาที่พึ่งแบบไหน แต่คนเราก็ต้องมีที่พึ่งสักอย่างหนึ่งเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในยามที่มีความทุกข์ และความเดือดร้อนใจ

ข้าพเจ้าได้ใช้เวลาในตอนเช้าเดินรอบภูเขานี้ ๓ รอบทุกๆ วัน แล้วก็ขึ้นไปบนยอดเขา(ที่วัด) หาที่เหมาะสมเป็นม้านั่งด้านหน้าองค์สถูป นั่งสงบจิตสักครู่แล้วเริ่มสวดมนต์รำลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วสาธยายบทพระปริตรมงคล จบแล้ว นั่งสมาธิเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง จากนั้น แผ่เมตตาแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย แล้วเดินกลับที่พักด้วยจิตใจที่ปลอดโปร่งโลงสบาย มีกำลังกาย กำลังใจ เหมือนกับเราได้ชาร์จแบตเตอร์รี่ให้กับตัวเองอย่างเต็มที่ ทำอย่างนี้เป็นกิจวัตรประจำวันไม่เคยขาด

สภาพชีวิตชาวเมืองดาร์จีลิ่ง
ชีวิตของชาวเมืองในตอนเช้าเริ่มแออัดจอแจตั้งแต่ประมาณ ๗ โมงเช้าเป็นต้นไป บรรดาเด็กนักเรียน แต่งตัวด้วยชุดหลากสี หลากหลายรูปแบบตามแต่ละโรงเรียนกำหนด แต่งตัวดีมาก มีชุดประจำ โรงเรียน เดินออกจากบ้านเป็นกลุ่ม ๆ ส่วนมากจะเดินขึ้นเขา พี่จูงมือน้อง น้องเดินตามหลังพี่ เสียงพูดคุยกัน เป็นภาษาอังกฤษบ้าง ฮินดี หรือเนปาลีบ้าง ด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส โดยเฉพาะเด็ก ๆ จะแก้มแดง เหมือนลูกท้อ หรือเหมือนลูกตำลึงสุก แดงเองโดยธรรมชาติไม่มีการแต่งแต้มด้วยเครื่องสำอางค์หรือ เครื่องประทินผิวแต่อย่างใด เพราะอากาศหนาวและมีผิวพรรณดีตามธรรมชาติอยู่แล้วเป็นบรรยากาศที่หาดูได้ยากพอสมควร โดยสภาพพื้นที่แล้วต้องปีนเขาสูง และอากาศหนาวเย็นในยามเช้า แต่ดูทุกคน ก็มีความสุข มองดูสีหน้าและท่าทางไม่เครียดเหมือนคนในเมืองใหญ่ ๆ โดยเฉพาะคนในเมืองหลวงที่มีความเจริญทางด้านวัตถุและมีเทคโนโลยีเข้ามาเร่งรัดตัว วิ่งแข่งเวลา และทำให้เสียความรู้สึกอยู่บ่อย ๆ คนที่เมืองนี้จะมีสุขภาพกาย และสุขภาพจิตดี สังเกตจากสีหน้าและแววตา รวมทั้งความมีอัธยาศัยไมตรีต่อคนต่างถิ่น มีน้ำใจคอยช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างเห็นได้ชัด
ส่วนตามข้างถนนก็จะเต็มไปด้วยแม่ค้า-พ่อค้านำพืชผัก-ผลไม้มาขายเป็นเครื่องยังชีพขั้นพื้นฐาน ส่วนเนื้อ หรือปลานั้นไม่ค่อยมีมาก ส่วนใหญ่จะเก็บผักสวนครัวนำมาขายกัน ประมาณว่าผักเหล่านี้คงจะไร้สารพิษแน่นอน เพราะชาวเขาอยู่กับธรรมชาติ ก็คงใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยพืชสดเป็นส่วนมาก

กินง่าย-อยู่ง่าย ตามสไตล์คนภูเขา
ชาวบ้านที่นี่อยู่ง่าย-กินง่าย จะสังเกตเห็นการปลูกบ้านเรือนที่อยู่อาศัยหลังเล็ก ๆ ตามไหล่เขาบ้าน ไม่ต้องใหญ่โตเกินความจำเป็น แต่เพียงพอกับความต้องการและประโยชน์ใช้สอยจัดอย่างเป็นระเบียบเรียบ ร้อยเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ หน้าบ้านหรือตามราวบันไดก็ปลูกไม้ดอกหลากสีสรรตามฤดูกาล ปลูกไม้ ประดับใว้ให้เกิดความสดชื่นสวยงาม ถึงจะมีพื้นที่น้อยแต่ก็ใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า น่าชื่นชม
ส่วนการกินง่ายนั้นเล่าก็กินตามสภาพตามมีตามได้ ชาวบ้านจะกินผักเป็นส่วนใหญ่และที่ขาดไม่ได้คือ แกงดาล หรือแกงถั่ว ซึ่งจะมีทุกมื้อเป็นอาหารโปรตีน ชนิดเดียวที่ดีที่สุด โดยไม่ต้องบริโภคเนื้อสัตว์เพราะ หายาก และชาวเมืองนี้มีลักษณะนิสัยในการบริโภคที่พิเศษ คือถ้าเป็นชาวพุทธที่เคร่งครัดหน่อยก็จะบริโภค มังสวิรัติ (Vegetarian) ก็ยิ่งกินง่ายอยู่ง่ายเข้าไปอีก และสุขภาพดีด้วย การเดินขึ้นลงภูเขาเวลาไปไหน มาไหน ก็เป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุด ไม่ค่อยนั่งรถหรือเครื่องอำนวยความสะดวก จะสังเกตเห็นว่า ปัญหาสุขภาพของคนเมืองนี้ไม่ค่อยมีมากเหมือนคนพื้นราบ โดยเฉพาะโรคอ้วนไม่ค่อยเห็นเลย เนื่องจากมีอากาศดี อาหารดี สิ่งแวดล้อมดี จึงทำให้สุขภาพดีมีอายุยืนยาวเจ้าของบ้านที่ข้าพเจ้าพัก นี้ก็รับประทานมังสวิรัติเหมือนกัน ปฏิบัติตัวมาหลายปีแล้วดูหน้าตาสดใสสุขภาพแข็งแรง และเป็นนักปฏิบัติธรรมด้วย

1 Comments:

At 7:59 PM, Blogger Jim Wilson said...

Recruiting Pitch for Computer Science Majors
Web 2.0 Conference 2005 October 5-7, 2005, San Francisco, CA I love collgiate sports, especially Division 1 football and hockey.

Jerry Wilson
Editor & Producer
Vegas Buzz News / Radio
www.vegasbuzzz.com
www.vegasbuzzradio.com
www.vegasnews.squarespace.com

 

Post a Comment

<< Home