Monday, September 26, 2005

ดาร์จีลิ่ง-สิกขิม (ตอนที่ ๓)




ขึ้นเรือนเยือนบ้าน

เมื่อข้าพเจ้า ได้พำนักอยู่ที่เมืองดาร์จีลิ่งนานหลายวันเข้าก็เริ่มรู้จักผู้คนพื้นเมืองที่เป็นชาวพุทธ และชาวฮินดู ด้วยการเดินชมเมืองในตอนเช้าและได้พบปะพูดคุย โดยที่ชาวเมืองเป็นคนที่มีอัธยาศัยดีอยู่แล้ว และข้าพเจ้าเองก็เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เลยยิ่งทำให้การสนทนาพูดคุยเป็นที่น่าสนใจของชาวบ้านยิ่งขึ้น และในบางครั้งเราก็ต้องการเผยแผ่ธรรมะไปด้วย ตลอดถึงศิลปวัฒธรรมไทย ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีงามและเท่าที่ได้สัมผัสกับชีวิตชาวบ้านที่นี่แล้ว ก็ยิ่งมีความใกล้ชิดสนิทสนมเพราะเป็นชาวพุทธที่มีวัฒนธรรมพื้นฐานอันเดียวกัน เช่น เวลาที่รู้จักกัน แล้วจะนิมนต์ไปเยี่ยมที่บ้านโดยหาโอกาสพิเศษ เช่น งานวันเกิดของคนในบ้านก็จะนิมนต์พระไปฉันภัตตาหารเพล หรือไม่ถ้าไปเยี่ยมตอนเย็นก็จะถวายน้ำชาร้อน หรือ จาย
การไปเยี่ยมบ้านแต่ละครั้งจะมีของต้อนรับแขกตามธรรมเนียมด้วยความเอื้อเฟื้อของเจ้าบ้าน ชาวเมืองดาร์จีลิ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวพุทธที่มั่นคงในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ทุกบ้านจะมีแท่นบูชาที่แกะสลักหรือเขียนลวดลายอย่างสวยงามตามแบบศิลปะทิเบต มีพระพุทธรูปหรือรูปปั้นพระโพธิสัตว์ขนาดต่างๆ ไว้บูชา มีถ้วยเงินตั้งอยู่ข้างหน้าแท่นสำหรับถวายน้ำในตอนเช้า และถ้วยทองเหลืองเติมน้ำมัน สำหรับตามประทีปบูชา ส่วนมากจะเป็นน้ำมันเนย พอเข้าไปในห้องพระจะได้กลิ่นพิเศษ เป็นผงกำยานหอมจุดบูชาตลอดวัน
การจัดบ้านเรือน จะเป็นแบบประหยัดสุด ได้ประโยชน์สูง บางบ้านหลังเล็กๆ ห้องแคบๆ แต่จัดได้ลงตัวต่อประโยชน์ใช้สอย เพราะพื้นที่ราบมีน้อย ต้องปลูกบ้านตามไหล่เขา จึงต้องใช้พื้นที่อย่างประหยัดตอนบ่ายวันหนึ่งข้าพเจ้าเดินผ่านล้านเล็ก ๆ ซึ่งมีคนแก่เฝ้าบ้านคล้าย ๆ กับชนบทไทยเรา พอเห็นเราเดินไปมอง ๆ เข้าไป เห็นหน้ากันก็ยิ้มให้ทั้ง ๆ ที่สื่อภาษาไม่ค่อยรู้เรื่อง ก็อาศัยหลานที่เรียนภาษาอังกฤษคอยเป็นล่ามแปลให้ ซึ่งดูท่าทางคุณยายดีใจมาก เมื่อเข้าไปในบ้านก็จัดแจงให้เรานั่งในห้องรับแขกเล็ก ๆ มีเก้าอี้บุนวม ๒-๓ ตัว ตั้งอยู่ชิดหน้าต่างแล้วนำน้ำร้อนน้ำชา พร้อมด้วยขนมพื้นบ้านออกมาต้อนรับพร้อมกับพูดคุยถามสารทุกข์สุกดิบด้วยทาทางยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นกันเอง
เมื่อมองออกไปนอกหน้าต่างจะเห็นขุนเขาติดกันเป็นเทือกยาวลำธารคิดเคี้ยวอยู่เบื้องล่าง และอีกด้านหนึ่งมองออกไปจะเห็นสีเขียวของไร่ชาดูงดงามลดหลั่นลงไปเหมือนขั้นบันใด บางครั้งมีลมเย็นพัดโชยเข้ามาทางหน้าต่างช่องเล็ก ๆ เหมือนติดแอร์คอนดิชั่นเลยทีเดียว ภายในห้องสิ่งของเครื่องใช้ถูกจัดไว้อย่างเป็นระเบียบ ที่มุมห้องมีโต๊ะบูชา อีกมุมสำหรับนั่งนอนบนเตียงซึ่งมีเครื่องนอนกองเป็นตั้งสูง
ครอบครัวของชาวดาร์จีลิ่ง ส่วนใหญ่ก็จะคล้าย ๆ กัน เช่น ครอบครัวชาวทิเบตซึ่งดูแลวัดที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟ ชื่อ “The Himalayan Buddhist Society” ครอบครัวนี้จะให้การต้อนรับพระสงฆ์บ่อยโดยเฉพาะจากประเทศไทย ทุกครั้งที่ไปแวะก็จะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี มีห้องให้พัก และทำอาหารเช้าอาหารเพลถวาย ท่านพระครูศรีปริยัติสุนทรหรือหลวงพ่อน้อย ได้นัดพบคณะของพวกเรา ไปฉันภัตตาหารเพลเป็นบางครั้ง ซึ่งเจ้าของบ้านทำหน้าที่ดูแลวัดคอยให้การต้อนรับพระสงฆ์และพระลามะเวลาเดินทางมาประกอบพิธีและพักอยู่ที่นี่เป็นครั้งคราว เจ้าของผู้ดูแลวัดนี้จะพูดแต่ภาษาทิเบตและไม่ค่อยพูดภาษาอังกฤษ จึงได้มอบให้ลูก ๆ มี Tashi, Dicky และ Dawa สามพี่น้องซึ่งกำลังเรียนหนังสือ อยู่ชั้นประถมและมัธยมตามลำดับ สมารถพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วมาให้การต้อนรับพูดคุย
เด็ก ๆ ในครอบครัวนี้ เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อด้วยความสนิทสนม มาให้การต้อนรับและอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ น จัดน้ำร้อนน้ำชาถวาย จัดเตรียมอาหารเช้า – เพล ทุกครั้งที่มีพระไปเยี่ยม เด็ก ๆ เหล่านี้จะดีใจมาก เพราะมีขนมกินและรับแจกของฝากจากเมืองไทย เช่น อาหารแห้งประเภท มาม่า ปลากระป๋อง น้ำพริกต่าง ๆ เป็นต้น
ส่วนชั้นบนของที่พักเป็นห้องพระประธาน มีพระประธานและระฆังใบใหญ่ที่ได้รับบริจาค ที่นำมาจากประเทศไทยโดยท่านอาจารย์ ดร.พระมหาบาง เขมานนฺโท เป็นผุ้นำศรัทธาญาติโยมมาจากเมืองไทยมาถวายไว้ เป็นสถานที่ไหว้พระสวดมนต์และนั่งสมาธิ ทุกครั้งที่พวกเรามาเยี่ยมวัดแห่งนี้ ก็จะขึ้นไปทำวัตรสวดมนต์ นั่งสมาธิทุกครั้ง เป็ฯบรรยากาศที่ดีมาก เงียบสงบ และถ้ามองออกไปนอกหน้าต่าง ก็จะมองเห็นยอดภูเขาคังเซ็นชุงก้าที่มีหิมะปกคลุมขาวโพลนอยู่ตลอดปี เป็นมนต์ขลังของดาร์จีลิ่งอย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย
อีกครอบครัวหนึ่งคือ ครอบครัวโดม่า เป็นครอบครัวเชื้อสายภูฏาน บานอยู่บนยอดเขาสูงใกล้ ๆ ทีวีเทาเวอร์ ครอบครัวนี้ก็มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับพระสงฆ์ไทยเป็ฯอย่างดี
ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าพร้อมด้วยคณะได้รับนิมนต์ไปร่วมสวดมนต์อวยพรวันเกิด อาจารย์โสวิทย์ บำรุงภักดิ์ ซึ่งรู้จักคุ้นเคยกับเข้าของบ้านเป็นอย่างดี คือคุณ Ryden เป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้กับพระและนักศึกษาไทยที่ชอบไปเรียนภาษาอังกฤษเสริมที่นี่ ทุก ๆ ครั้งที่ข้าพเจ้าเดินทางมาดาร์จีลิ่ง เมื่อครอบครัวนี้รู้ข่าวก็จะนิมนต์ให้ไปฉันเพลที่บ้านบ้านเสมอ การต้อนรับขับสู้เป็นแบบพี่แบบน้อง เป็นครอบครัวชาวพุทธซึ่งคุณพ่อเคยเป็นลามะมาก่อนและการดำรงชีวิตโดยทั่วไปก็เป็นแบบวิ๔ถีชีวิตของชาวพุทธมหายานที่เคร่งครัดในศาสนาทั่วไป คือชีวิตจะอยู่กับการสวดมนต์และท่องบ่นสาธยายพระธรรมคัมภีร์ต่าง ๆ เป็นประจำ

ครอบครัวปฏิบัติธรรมชาร์มา (Sharma)
เป็นอีกครอบครัวหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมเยือน และมีความประทับใจในวิธีชีวิตความเป็นอยู่ระหว่างพ่อ แม่ และมีลูก ๓ คน ได้นิมนต์ข้าพเจ้าพร้อมกับท่านพระมหาสายันต์ ไปเยี่ยมที่บ้าน เหตุที่ได้เจอกันก็เพราะการเดิน (ออกกำลังในตอนเช้าแทนการบิณฑบาต) ได้พลปะพูดคุยสนทนากันในฐานะคนแปลกหน้า แต่เป็นจุดสนใจเพราะเห็นว่าเราเป็น “พระ” ดูการแต่งตัวก็แปลกจากคนธรรมดาอยู่แล้ว เลยได้เรื่องพูดคุยสนทนามากขึ้นทั้งในเรื่องของพระสงฆ์ วัดวาอาราม ความเป็นอยู่ของคนไทย
พวกเราได้รับเชิญเข้าไปนั่งยังห้องรับแขก ซึ่งถูกจัดไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ถัดจากห้องรับแขกไปเป็นห้องพระขนาดใหญ่ มีโต๊ะบูชาและตั้งรูปเคารพอยู่เต็ม ครอบครัวนี้เป็นชาวฮินดูที่เคร่งครัดมาก และให้ความเคารพนับถือท่าน ภควัน ไสบาบา อย่างมาก มองดูที่ฝาผนังห้องพระ จะมีรูปท่านติดเต็มไปหมด และนออกจากจะมีรูปเคาพรในศาสนาฮินดูแล้ว ก็ยังมีพระพุทธรูปด้วย น้องสาวคนเล็กชื่อ สุสัมปันนา วิ่งเข้าไปในห้องพระแล้วนำพระพุทธรูปออกมาอวดพวกเรา บอกว่านี่ ภันเต! ..ฉันก็เคารพท่าน ภควัน พุทธะ ด้วยนะ
หลังจากที่พวกเรานั่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ชาร้อน ๆ แบบสไตล์ “กลัมจาย” ของดาร์จีลิ่งก็ถูกเสิร์ฟแก้หนาวก่อนที่จะได้รับการแนะนำจากสวัสดิกะ ลูกสาวคนโน ให้รู้จักกับคุณพ่อซึ่งทำงานเป็นเจ้าหนที่ของที่ทำการไปรษณีย์ดาร์จีลิ่ง และแม่เป็นครูสอนเด็กประถมแห่งหนึ่ง ส่วนน้องชายไปเรียนหนังสืออีกเมืองหนึ่ง (กาลิมปง)
ในการพูดคุยสนทนาส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องธรรมะและการปฏิบัติซึ่งได้รับความสนใจมาก มีคำถามขึ้นมาเป็นระยะ และเมื่อเราถามถึงการประพฤติปฏิบัติของครอบครัวนี้ ก็ได้รับคำตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเราปฏิบัติธรรมกันหมดทุกคน เช้าหรือเย็น พ่อ แม่ ลูก จะเข้าห้องพระสวดมนต์พร้อมกัน ทำอย่างนี้เป็นกิจวัตร หรือถ้าใครไม่สบาย หรือขาดไปไม่อยู่บ้าน ผู้ที่อยู่บ้านจะทำแทน และเมื่อกลับมาก็จะนำผง (เหมือนขี้ธูป) ออกมาแจกให้เจิมที่หน้าผากและแตะที่ลิ้น เป็นการอวยชัยให้พรกัน และก่อนที่เด็ก ๆ จะออกจากบ้านไปเรียนหนังสือตอนเช้า ก็ต้องเข้าห้องพระรับการเจิมหน้าผากก่อน เพื่อความเป็นเสริมมงคล นอกจากนี้ก่อนที่พวกเราจะลากลับ ทั้งครอบครัวยังได้ร้องเพลง (บทสวดสรรเสริญ) พระเจ้าให้เราฟังเป็นบทกล่อมใน ภควคีตา เป็นการให้พรพวกเราโดยเฉพาะลูกสาวคนเล็ก สุสัมปันนา เป็นต้นเสียงให้ พ่อกับแม่และพี่สาวก็ร้องตาม ลูกชายเล่นกีต้าร์ สวัสดิกะ ลูกสาวคนโตเคาะกรับไปด้วยด้วยเป็นการให้จังหวะ เรียกว่าประทับใจทั่งผู้ให้และผู้รับเลยทีเดียว
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายครอบครัวที่มีน้ำใจต่อข้าพเจ้าและเพื่อน ๆ ที่ไปเยือนดาร์จีลิ่ง ต่างได้รับความประทับใจเช่นเดียวกัน จนอดใจหายไม่ได้ในวันที่จะบอกลากลับเมืองไทย แต่ความประทับใจเหล่านั้นก็ไม่เคยลืมเลือนไปจากความทรงจำ ถึงแม้จะไม่ได้บันทึกไว้ในสมุด Diary แต่ได้บันทึกไว้ใน Memory แทน ยังระลึกถึงความมีน้ำใจอยู่ตลอดเวลา

เยี่ยมงานศพ (วิถีคนภูเขา)
ตอนบ่ายวันหนึ่งขณะที่ข้าพเจ้านั่งอ่านหนังสืออยู่ในห้องพัก สังเกตเห็น คนเดินขวักไขว่ไปมาอยู่หลังบ้านมากผิดปกติ สอบถามเจ้าของบ้านทราบว่าญาติห่าง ๆ ได้เสียชีวิตลงเมื่อคืนที่แล้ว พอวันรุ่งขึ้นเด็ก ๆ ลูกหลานไม่ไดไปโรงเรียน แต่เห็ฯแต่งชุดดำกันก็เลยรู้ว่าคุณยายเขาได้จากไปอย่างสงบด้วยอายุเพียง ๖๓ ปี ทราบชื่อายหลังคือ คุณยายมันดีป ตามัง (Mandeep Tamang)
เมื่อเอ่ยถึงนามสกุลตามัง ก็ทราบได้ทันทีว่าเป็นตระกูลชาวพุทธ (มาหยาน) ซึ่งชาวพุทธในดาร์จีลิ่ง จะมีไม่กี่ตะกูล เช่น ตามัง (Tamang) เลปชา (Lepcha) เชอร์ปา (Sherpa) และ ลามะ (Lama) นอกนั้นก็เป็นชาวฮินดูบ้าง ขาวคริสต์บ้าง และมีมุสลิมบ้างเล็กน้อย แต่ประชากรส่วนใหญ่จะเป็นชาวพุทธแบบมหายาน มีวัดประจำตระกูลชื่อวัดตามังที่ถนนตุงซุง
ข้าพเจ้าและท่านพระมหาสายัณต์ ได้มีโอกาสไปเยี่ยมศพและตั้งใจที่จะไปศึกษาการจัดงานศีพของชาวดาร์จีลิ่งด้วย จึงได้เตรียมกล้องถ่ายรูปและกล้องวีดีโอไปด้วย เผื่อจะได้บันทึกภาพแปลก ๆ มาฝากคนทางบ้านเราที่ไม่เคยเห็น ก็ไม่ผิดหวัง พวกเราเดินทางไปถึงบ้านงานศพประมาณเที่ยงครึ่ง เด็ก ๆ นักเรียนที่คุ้นเคยกัน มี Pinky, Dipti Anu, Rita ซึ่งเป็นหลานของผู้ตายได้ออกมารับที่หน้าบ้านด้วยท่าทางตื่นเต้นดีใจไม่นึกว่าเราจะไปเยี่ยมศพคุณยายของพวกเขา
บ้านของคนที่นี่ก็ทราบดีอยู่แล้ว ไม่ได้กว้างขวางใหญ่โตอะไร เพราะต้องปลูกไว้บนไหล่เขา ไม่มีพื้นราบเพียงพอที่จะสร้างบ้านหลังใหญ่ ๆ
พวกเขาพาเราเข้าไปที่ห้องรับแขก ซึ่งมีโซฟายาวอยู่ตัวหนึ่งตั้งอยู่ที่มุมห้อง และอีกด้านหนึ่งเป็นที่วางศพผู้ตาย ซึ่งเอานอนไว้เฉย ๆ ไม่ได้ใส่โลง จัดให้นอนห่มผ้าเหมือนคนนอนหลับ แปลกแม่ที่บนหัวนอนจะวางมีดดาบความยาขนาดแขนได้ และจุดตะเกียงไว้ดวงหนึ่ง เยื้องๆ ด้านศีรษะของศพจะเป็นโต๊ะวางเครื่องประกอบพิธีศพ มีพระลามะ ๓ รูป นิมนต์มาจากวัดตามัง กำลังง่วนอยู่กับการปั้นแป้งข้าวสาลีผสมน้ำมันเนยเป็นรูปเจดีย์เล็ก ๆ ใส่ปากถ้วยขนาดถ้วยข้าวต้ม ประดับประดายอดเจดีย์ด้วยลายดอกไม้สวยงามที่ปั้นขึ้นจากแป้งชนิดเดียวกัน แต่บางที่ก็ผสมสีแดง สีชมพูด ดูคล้ายายศรีปากชาม (หรือขันหมากเบ็งภาคอีสาน)
เมื่อสอบถามได้ความว่า ทำเพื่อประกอบในพิธีสวดศพ พอบ่าย ๆ ชาวบ้านที่รู้ข่าวเริ่มทยอยกันมาเคารพศพ ตามธรรมเนียมจะมีดอกไม้และธูปเป็นห่อ ๆ และที่ขาดไม่ได้คือผ้าปะฏะ คือผ้าขาวบางทอดอย่างดี ด้วยเส้นไหมหรือใยสังเคราะห์ ขนาดเท่าผ้าพันคอ หรือผ้าสไบเฉียงของคนแก่เวลาไปวัดบ้านเรา เมื่อมาถึงจะวางดอกไม้ไว้ที่อกหรือที่เท้าของศพและวางห่อธูปไว้ที่ศีรษะ แล้วก็คลี่ผ้าปะฏะห่มให้ศพ ไหว้ที่เท้า + ครั่ง แล้วถอยออกไป ไม่มีการจุดธูปเทียนบูชา
ส่วนพระลามะเมื่อทำเครื่องประกอบพิธีเสร็จแล้วได้นำขึ้นตั้งที่หิ้งบูชาพระประจำบ้าน จุดประทีปน้ำมันเนย ๑๐๘ ดวง (เป็นถ้วยทองเหลืองเมหือนเชิงเทียน) ซึ่งมีเครื่องประกอบพิธีสวดดังนี้ ปี่ หรือแตร ปากบาน ๒ เลา ฉาบ ๒ คู่ (ขนาดเล็ก,ใหญ่) กลอง ๑ ใบ บัณเฑาะก์ ๑ อัน หอยสังข์ ๑ ตัว กระดิ่ง ๑ ใบ วัชระ (ตรีเพชร) ๑ อัน กาน้ำมนต์ ซึ่ง มีขนนกยูงเป็นเครื่องประพรม ๑ อัน เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วก็เริ่มสวดมนต์เป็ฯภาษาทิเบต โดยหัวหน้าและองค์ที่สองจะเป่าแตร องค์ที่สามตีฉาบและกลองไปพร้อม ๆ กัน เป็นการโหมโรงก่อนจะขึ้นบทพระสูตรต่าง ๆ และจะเป่าแตร ตีฉาบ ตีกลอง สลับไปเรื่อย ๆ เมื่อจบพระสูตรบทหนึ่ง ๆ ถามท่านลามะบอกว่าจะสวดตั้งแต่ ๔ โมงเย็นวันนี้แล้วก็ไปเสร็จเอา ๗ โมงเช้าพรุ่งนี้ (สวดกันทั้งคืนเหมือนพิธีพุทธาภิเษกเลย) แล้วจะนำศพไปเผาในตอนบ่ายพรุ่งนี้ ฝ่ายญาติ ๆ ทั้งหลาย มีลูก หลาน และเพื่อนบานที่ใกล้เคียง จะเข้ามาเคารพศพเป็นระยะ ๆ เหมือนกับพิธีทำศพชาวจีนในประเทศไทย ส่วนเครื่องเซ่นบูชาศพก็มี กล้วยสุก ข้าตอก ธูป ผงกำยาน ประทีปน้ำมันเนย หลังจากพระสวดไปแล้วหลายจบ ก็จะมีคณะลูกหลานเข้ามาเคารพโดยถือจอกประทีปน้ำมันเนย และดอกไม้โดยพระลามะจะส่งให้ถึงมือแล้วก็คุกเข่าถือจอกประทีปเอาไว้ จนจบบทจากนั้นก็จะส่งถาดข้าวตอกพร้อมด้วยกล้วยและจอกนมสด ซึ่งลูกหลานรับแล้วนำออกไปข้างนอกบ้านพร้อมด้วยพระลามะจะสาดน้ำมนต์ใส่แล้วผุ้ทำหน้าที่ก็จะออกไปข้างนอกบ้านเหมือนการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลหรือสวดส่งวิญญาณ การสวดดำเนินไปอย่างนี้เรื่อย ๆ จนถึงเวลาพระลามะพักประมาณ ๗ โมงเย็น คุณนามตาซึ่งเป็นเจ้าของบ้านที่พวกเราไปพักได้นิมนต์ให้ขึ้นสวดศพด้วยในฐานะทีเราเป็นพระภิกษุ (ไทย) ในพระพุทธศาสนา ทางเจ้าภาพก็แสนจะตื่นเต้นและดีใจที่ได้พระจากต่างประเทศมาสวดให้ ข้าพเจ้าพร้อมด้วยท่านมหาสายันต์ ได้สวดอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ต่อด้วยมาติกา และบังสุกุล กรวดน้ำให้พรเป็นภาษาบาลีเป็นอันเสร็จพิธี
จากนั้นได้อธิบายธรรมะและอธิบายความหมายของบทสวดต่าง ๆ ให้เป็นที่เจริญศรัทธาแก่เจ้าภาพ พอสมควรแก่เวลาแล้วก็เดินทางกลับที่พัก


มนต์ขลังดาร์จีลิ่ง
การได้เดินทางมาเยี่ยมชมสถานที่ที่ทำให้เกิดความประทับใจที่ใดสัก แห่งหนึ่ง ก็อดไม่ได้ที่จะหาคำจำกัดความของสถานที่นั้น ๆ อย่างความประทับใจที่เมืองดาร์จีลิ่ง แห่งนี้ก็พอที่จะกล่าวได้ว่า เป็นดินแดนแห่ง ภูเขาสูง น้ำตกใส ไร่ชาสวย ดอกไม้งาม และน้ำใจ (ผู้คน) ดี และไม่มีสิ่งใดที่จะสะดุดตาไปกว่าภูมิประเทศอันงดงามดึงดูดใจนักเท่องเที่ยวให้มาเยือน บวกกับอัธยาศัยไมตรีของเจ้าถิ่น และบรรยากาศแห่งสันติธรรม รวมทั้งความศักดิ์สิทธิ์ที่แรกอยู่ทุกหนทุกแห่งของดินแดนที่อยู่ในอ้อมกอดแห่งหิมาลัยนี้
ถึงแม้จะมีอารยธรรมตะวันตกที่ไหลบ่าเข้ามาท่วมทับเป็นครั้งคราวพร้อมกับขบวนคาราวานของนักเท่องเที่ยวในแต่ละปี แต่รัศมีแห่งธรรมะ ขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมก็ยังคงรักษาอยู่ตามครรลองแห่งพุทธธรรม ยังคงเจิดจ้าท้ายทายการไปพิสูจน์ และยังคงทำให้สภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนต่อจิตวิญญาณ เป็นรากฐานแหงชีวิตที่หาได้ยากในโลกเราปัจจุบันนี้
วิถีชีวิตของคนภูเขายังเป็นแบบอย่างที่ดีมีคุณค่าต่อการดำรงชีวิตที่อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ก็ได้แต่ภาวนาขอให้ชาวดาร์จีลิ่งรักษาเอกลักษณ์ที่น่าชื่นชมนี้ไว้ในท่ามกลางกระแสแห่งวัฒนธรรมตะวันตกในยุคสหัสวรรษใหม่ เพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนทางจิตวิญญาณ และเป็นแหล่งศึกษาวัฒนธรรมย้อนยุค และความหลากหลายทางชีวภาพต่อไป


สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในเมืองดาร์จีลิ่ง
ชม อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ดาร์จีลิ่ง หรือ War Memorial, Batasia Loop เป็นจุดชมวิวอีกแห่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาด ถ้านั่งรถไฟ Toy Train มาถึงตรงนี้ก็จะหยุดให้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก รถไฟจะวิ่งเป็นวงกลมรอบอนุสาวรีย์ ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาเหมือนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิบ้านเรา เป็ฯอสุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงทหารผ่านศึกเช่นเดียวกัน เวลาท้องฟ้าแจ่มใสจะมองเห็นยอดเขาคังเซ็นชุงก้าได้อย่างสวยงามมาก
ชม ไร่ชาสวย ด้วยโรปเวย์ (Ropeway) ถ้าเดินตามถนนจากจุดนัดพบ จอร์รัสตา อ้อมไปด้านหลังภูเขาตรงที่เรียกว่า สิงมาลี ผ่านสวนสัตว์ลงไป จะเป็นสถานีสำหรับนั่งกระเช้าไฟฟ้า หรือ Ropeway ลงไปชมหมู่บ้านในท่ามกลางไร่ชา และได้ชมบรรยากาศที่สวยงามด้วยทิวทัศน์เพราะความสูงจะมองเห็นได้รอบทิศ เป็นที่นิยมของนักเท่องเที่ยวมากจากนั้นถ้าเดินเท้า หรือนั่งรถไปตามไร่ชา ซึ่งจะมีกร่ท่อมอยู่ริมข้างทางเจ้าของจะออกมาเชื้อเชิญด้วยอัธยาศัยไมตรีให้เราเข้าไปชิมน้ำชารสเลิศซึ่งจะชงให้ชิมด้วยความพิถีพิถัน และถ้าถูกคอถูกใจก็ซื้อกลับบ้านเป็นของฝากได้ ชาดาร์จีลิ่งถือว่ามีชื่อเสียงมากในแถบเทือกเขาหิมาลัย
ชมสวนพฤษษศาสตร์ สวยงามตลอดปี โดยมีฉากหลังเป็นยอดเขาคังเซ็นซุงก้า (Kangchendzonga) ที่มีหิมะขาวโพลนปกคลุมตลอดปีที่สวนสาธารณะบนยอดเขาสูง ชื่อ ชรับเบอร์รี่ พาร์ค (Shrubbery Park) บรรยากาศจะสวยไปคนละแบบกับสวนพฤกษศาสตร์ (Botanical Garden) เพราะอยู่ในที่สูงได้รับแสงอาทิตย์ตลอดเวลา
ชมน้ำตกใสที่ จันนุ ซัมเมอร์ ฟอลส์ (Chunnu Summer Falls (Rock Garden) เนื่องจากบรรยากาศที่สวยงามอยู่แล้ว สายน้ำตกที่ไหลลงมาจากหุบเขาสูง ตกกระทบก้อนหินแตกกระจายเป็นฝอย น้ำใสไหลเย็นเป็นธาร ทำให้เพิ่มบรรยากาศที่ตื่นตาตื่นใจยิ่งขึ้น เมื่อได้ยินเสียงซ่า ๆ มาแต่ไกล ยิ่งอยากจะเข้าใกล้และสัมผัส
ชมน้ำตกสวย ทะเลสาบใส ที่ คงคามายา พาร์ค (Gangamaya Park) จากน้ำตกใสไหลเป็นธาร เมื่อไหลไปรวมกันเป็ฯแอ่งน้ำนระหว่างหุบเขาจึงเกิดเป็นทะเลสาบเล็ก ๆ ขึ้น น้ำที่ใสเย็นเหมือนกับกระจกเงา ที่ส่องสะท้อนให้เห็นเงาของภูเขาและแมกไม้ใกล้ลำธารนั้นจัดเจนยิ่งขึ้น มีเรือลำน้อยจอดเทียบท่าอยู่ ๒-๓ ลำ รอคอยหนุ่มสาวที่จะเกี่ยวก้อยกันลงไปพายเรือเล่นชมบรรยากาศ และคุยกันด้วยภาษาดอกไม้อย่างน่าภิรมย์ใจ
ชม ยอดเขาหัวพญานาค ที่ มหาเทวธรรม (Mahadev Dhama Park at Jorepokhri) ชื่อนี้คงจะไม่คุ้นเคยเท่าไรสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีเวลาไปเยือนดาร์จีลิ่งไม่นาน เพราะสถานที่ไม่ได้อยู่ในเส้นทางการเยี่ยมชมได้ง่าย ๆ ต้องนั่งรถออกไปอีกเมืองหนึ่ง ชื่อเมือง สุขียะ (Kukhya) เมื่อรถจอดในตัวเมืองแล้วต้องเดินขึ้นภูเขาไปอีกประมาณ ๕๐๐ เมตร สองข้างทางจะเป็นสนภูเขาต้นใหญ่ ๆ ขึ้นหนาทึบ และเมื่อถึงยอดเขาจะมีหมอกลงเป็นควันขาวมืดครึ้มตลอดเวลา ถ้าหน้าหนาวจัดจะมีหิมะตกด้วย โชคดีวันที่พวกเราไปเยือน อากาศดีพอที่จะถ่ายรูปได้ แต่ก็มีหมอกลงหนาเป็นบางคราว จุดที่น่าสนใจและถ่ายรูปมาฝากเห็นจะเป็นหัวพญานาคแผ่พังพานอยู่กลางสระน้ำขนาดใหญ่ มองดูขนาดลำตัวพญานาคที่ปิ่มน้ำอยู่เหมือนกับจะเลื้อยขึ้นมาทักทายผู้มาเยือน โชคดีเรามีไกด์นำทาง คือ Pinky, Dipti and Luckpa เจ้าถิ่นชำนาญทางเป็นอย่างดี จึงทำให้หายกลัวไปเยอะเลย
ชมสวนพฤษศาสตร์เมืองหนาว (Darjeeling Botanical Garden) จุดนี้ก็สำคัญไม่ควรพลาดสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีอารมณ์สุนทรีย์ รักธรรมชาติและชอบชมสวนไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว รับรองไม่ผิดหวังแน่ ข้าพเจ้าและเพื่อน ๆ มีโอกาสไปหลายครั้ง เพราะแต่ละฤดูกาลจะมีดอกไม้ไม่เหมือนกัน ยิ่งถ้าไปถูกช่วงฤดูใบไม้ผลิ (Spring) ในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม จะมีดอกไม้บานสะพรั่ง สวยงามมาก มีทั้ง Azalea, Magnolia, Camelia, Defferdill, Pancy และกุหลาบพันธุ์ต่าง ๆ ดอกไม้ใหญ่ ๆ กลิ่นหอมชื่นใจ อยู่บนไหล่เขา มองลงไปอีกด้านเป็นไร่ชาเขียวสดตลอดปี
ชมพิพิธภัณฑ์ที่สถาบันปีนภูเขา (Himalayan Mountaineering Institute Darjeeling) เป็นสถานที่รวบรวมเรื่องราวประวัติศาสตร์ของนักไต่ภูเขา โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการปีนเขาเอฟเวอร์เรสท์ที่สูงที่สุดในโลก มีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว บางครั้งต้องเอาชีวิตไปสังเวยก็มาก เป็นข้อมูลที่น่าศึกษาเยี่ยมชมอย่างยิ่ง
เยี่ยม หลุมฝังศพบุรุษเหล็กคนแรกที่พิชิตยอดเขาเอฟเวอร์เรสท์ เซอร์ปา เทนซิง นอร์เกย์ (Sherpa Tenzing Norgay) ชาวดาร์จีลิ่งเป็นคนแรกของโลกที่ได้ปีนขึ้นไปพิชิตยอดเขาเอฟเวอร์เรสท์ที่สูงที่สุดในโลก พร้อมกับเพื่อนชาวอังกฤษ ชื่อ Sir Edmund Hillary ได้สำเร็จใน วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๙ ทำให้เขาแนะนำให้รัฐบาลอินเดียตั้งสถาบันปีนภูเขาขึ้นชื่อว่า Himalayan Mountaineering Institute Darjeeling
ชม ชีวิตสัตว์หายากใกล้สูญพันธ์ ที่ Padmaja Naidu Himalayan Zoo Zoological Park เช่น หมีแพนด้าแดง (Red Panda) มีแห่งเดียวในโลก คือแถบเทือกเขาดาร์จีลิ่ง (มีอาหารและอากาศเหมาะกับความเป็นอยู่) และสิงโตหิมะ (Snow leopard) ใกล้สูญพันธ์ มีเพียงแห่งเดียวที่สวนสัตว์นี้ นอกจากนี้ก็มีเสือเบงกอล เสือโคร่งไซบีเรีย และสุนัขป่าทิเบต (Tibetan Wolf) ที่หาดูได้ยาก
เยี่ยมศูนย์ศิลปาชีพชาวทิเบต ชมศิลปหัตถกรรม วิถีชีวิตความเป็ฯอยู่ของชาวทิเบตที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองดาร์จีลิ่งและได้เข้าเยิ่ยมชมโรงเรียนทิเบตศึกษาแบบโรงเรียนกินนินของเด็กกำพร้าและมีฐานะยากจนชาวทิเบต มีชื่อว่า Darjeeling Tibetan Educational Center พระลามะเป็นครูใหญ่ดูแลอย่างใกล้ชิด และเป็นผู้นำเด็กนักเรียนไหว้พระสวดมนต์ ให้คำแนะนำปรึกษาเรื่องธรรมะและพิธีกรรม
นมัสการ สันติเจดีย์ (Peace Pagoda) ที่วัดญี่ปุ่น องค์พระเจดีย์สีขาว สูงใหญ่รูปทรงขันคว่ำมองเด่นเป็นสง่าอยู่ท่ามกลางแมกไม้ป่าสนภูเขาที่ขึ้นอย่างหนาทึบ ด้านหลังเป็นฉากสีเขียวทำให้มองเห็นองค์พระเจดีย์เด่นชัดยิ่งขึ้น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เมื่อเดินเข้าไปใกล้ยิ่งประทับใจในศิลปะของประติมากรรม ภาพแกะสลักจากหินทราย ประดับไว้โดยรอบพระเจดีย์ เป็นเรื่องราวในพุทธประวัติ เช่น ภาพพระสุบินนิมิตของพระนางสิริมหามายา, ภาพตอนพระพุทธองค์ผจญมารในวันตรัสรู้, ภาพแสดงธรรมจักรฯ แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ และภาพกษัตริย์ที่ ๘ หัวเมืองนำพระบรมสารีริกธาตุกลับไปประดิษฐานไว้ในเมืองของตน ภาพเหล่านี้ประกอบระหว่างช่องที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมากร ปิดทองเหลืองอร่ามเป็น ๔ ซุ้มใน ๔ ทิศ เป็นปางแสดงสังเวชนียสถานทั้ง๔ คือ ปางประสูติ ปางตรัสรู้ ปางแสดงปฐมเทศนา และปางปรินิพพาน
บทส่งท้าย..ได้อะไรจากการไปเยือนดาร์จีลิ่ง
ข้าพเจ้าได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเขียนหนังสือ อ่านหนังสือ และพิมพ์บทความต่าง ๆ ลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ พยายามเขียนบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษ เช่นบันทึกไดอารี่, บันทึกความทรงจำครั้งหนึ่งในชีวิตที่ ดาร์จีลิ่ง และ สิกขิม แดนมหัศจรรย์ เป็นต้น ได้ใช้เวลาเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ รู้สึกคุ้มค่ากับเวลาที่ใช้ไป และเห็นคุณค่าของเวลามากขึ้น

ความรู้สึกที่ผุดขึ้นมาในขณะนั่งสมาธิ
การที่เราอยู่คนเดียวก็ดีแบบนี้แหละ ทำให้เราได้ดูจิตใจของตัวเองมากขึ้น เพราะขณะที่จิตคิดเราก็ตามดูมันไป แล้วก็ถึงบทสรุปว่า "จิตไม่เคยหยุดนิ่ง"
การที่เราอยู่กับคนหมู่มาก ก็เลยไม่มีเวลาที่จะคิดถึงเรื่องของตังเอง และชอบยุ่งอยู่กับเรื่องของคนอื่น หรือคนอื่นมาทำให้เรายุ่งอยู่ตลอดเวลา เจ้าชายสิทธัตถะถ้าไม่ตัดสินพระทัยเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ ก็คงจะไม่ได้พบอมตธรรมอันประเสริฐ เราก็เหมือนกันถ้าไม่ตัดสินใจหลีกเร้นออกจากหมู่ ก็คงจะไม่ได้ความคิดต่าง ๆ ที่มันเริ่มจะพรั่งพรูออกมาเป็นระลอก ๆ ได้รับประโยชน์ทั้งด้านความคิด-สติปัญญา และการปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในตัวของเราทุกคนอยู่แล้วสุดแท้แต่ว่า คนเราจะให้โอกาสแก่ตนเองแค่ไหนเพียงไร ถ้ามีเวลาเป็นตัวของตัวเอง "หยุดสักนิด คิดสักหน่อย" เราก็จะมองเห็นทางออกให้แก่ตัวเอง จะไม่มัวงมโข่งดักดานอยู่กับที่ เหมือนนกกระเรียนแก่ตัวมีขนปีกหมดสิ้นแล้ว ยืนเจ่าอยู่ในหนองน้ำ ที่กำลังจะแห้งขอด ฉันนั้น
การทำเช่นนี้เป็นการคืนกำไรให้กับตัวเอง ที่เราได้ให้แก่คนอื่นมามากแล้ว "เรารักตัวเอง มิใช่เราเห็นแก่ตัว ประโยชน์สูงสุดอันใดที่จะเกิดขึ้นกับข้าพเจ้า ก็จะให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษย์ชาติทั้งสิ้น" การได้ปลีกตัวหลีกเร้นเช่นนี้ ก็เป็นการฝึกฝนตนเองวิธีหนึ่ง ทั้งเป็นการฝึกหัด ดัดนิสัย ไม่ตามใจตัวเอง และที่สำคัญคือมองเห็นจิตใจตัวเองได้อย่างชัดเจน เพราะว่ามีเวลาในการพิจารณา พระพุทธองค์ก็เคยสอนเอาไว้แล้ว แม้แต่พระองค์เองก็ต้องมีเวลาพักเข้าฌานสมาบัติ หรือ เข้านิโรธสมาบัติ หรืออีกอย่างหนึ่งเรียกว่า "ปฏิสัลลี" การหลีกเร้นจากหมู่ เพื่อเป็นการพักผ่อนแห่งจิตวิญญาณอย่างแท้จริง
ดูเถิด…นั่งดูจิต…ดูความคิดที่แหลมคม
เหมือนเพชรอยู่ในตมต้องค้นหาจึงฉายแวว
ความคิดที่แล้ว ๆ (กำแพงความคิด)ยังฝังอยู่มิรู้คลาย
จะหาใครที่ไหน มาเข้าใจในจุดนี้
เว้นแต่พระมุนีผู้ยินดีในความสงบใจ.

0 Comments:

Post a Comment

<< Home