Monday, September 26, 2005

รูปประกอบตอนที่ ๓



รูปประกอบตอนที่ ๓


บูชาด้วยประทีปน้ำมันเนย

ร่วมกันฟังธรรมะ

ขึ้นเรือนเยือนบ้านชาวดาร์จีลิ่ง

ดาร์จีลิ่ง-สิกขิม (ตอนที่ ๓)




ขึ้นเรือนเยือนบ้าน

เมื่อข้าพเจ้า ได้พำนักอยู่ที่เมืองดาร์จีลิ่งนานหลายวันเข้าก็เริ่มรู้จักผู้คนพื้นเมืองที่เป็นชาวพุทธ และชาวฮินดู ด้วยการเดินชมเมืองในตอนเช้าและได้พบปะพูดคุย โดยที่ชาวเมืองเป็นคนที่มีอัธยาศัยดีอยู่แล้ว และข้าพเจ้าเองก็เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เลยยิ่งทำให้การสนทนาพูดคุยเป็นที่น่าสนใจของชาวบ้านยิ่งขึ้น และในบางครั้งเราก็ต้องการเผยแผ่ธรรมะไปด้วย ตลอดถึงศิลปวัฒธรรมไทย ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีงามและเท่าที่ได้สัมผัสกับชีวิตชาวบ้านที่นี่แล้ว ก็ยิ่งมีความใกล้ชิดสนิทสนมเพราะเป็นชาวพุทธที่มีวัฒนธรรมพื้นฐานอันเดียวกัน เช่น เวลาที่รู้จักกัน แล้วจะนิมนต์ไปเยี่ยมที่บ้านโดยหาโอกาสพิเศษ เช่น งานวันเกิดของคนในบ้านก็จะนิมนต์พระไปฉันภัตตาหารเพล หรือไม่ถ้าไปเยี่ยมตอนเย็นก็จะถวายน้ำชาร้อน หรือ จาย
การไปเยี่ยมบ้านแต่ละครั้งจะมีของต้อนรับแขกตามธรรมเนียมด้วยความเอื้อเฟื้อของเจ้าบ้าน ชาวเมืองดาร์จีลิ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวพุทธที่มั่นคงในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ทุกบ้านจะมีแท่นบูชาที่แกะสลักหรือเขียนลวดลายอย่างสวยงามตามแบบศิลปะทิเบต มีพระพุทธรูปหรือรูปปั้นพระโพธิสัตว์ขนาดต่างๆ ไว้บูชา มีถ้วยเงินตั้งอยู่ข้างหน้าแท่นสำหรับถวายน้ำในตอนเช้า และถ้วยทองเหลืองเติมน้ำมัน สำหรับตามประทีปบูชา ส่วนมากจะเป็นน้ำมันเนย พอเข้าไปในห้องพระจะได้กลิ่นพิเศษ เป็นผงกำยานหอมจุดบูชาตลอดวัน
การจัดบ้านเรือน จะเป็นแบบประหยัดสุด ได้ประโยชน์สูง บางบ้านหลังเล็กๆ ห้องแคบๆ แต่จัดได้ลงตัวต่อประโยชน์ใช้สอย เพราะพื้นที่ราบมีน้อย ต้องปลูกบ้านตามไหล่เขา จึงต้องใช้พื้นที่อย่างประหยัดตอนบ่ายวันหนึ่งข้าพเจ้าเดินผ่านล้านเล็ก ๆ ซึ่งมีคนแก่เฝ้าบ้านคล้าย ๆ กับชนบทไทยเรา พอเห็นเราเดินไปมอง ๆ เข้าไป เห็นหน้ากันก็ยิ้มให้ทั้ง ๆ ที่สื่อภาษาไม่ค่อยรู้เรื่อง ก็อาศัยหลานที่เรียนภาษาอังกฤษคอยเป็นล่ามแปลให้ ซึ่งดูท่าทางคุณยายดีใจมาก เมื่อเข้าไปในบ้านก็จัดแจงให้เรานั่งในห้องรับแขกเล็ก ๆ มีเก้าอี้บุนวม ๒-๓ ตัว ตั้งอยู่ชิดหน้าต่างแล้วนำน้ำร้อนน้ำชา พร้อมด้วยขนมพื้นบ้านออกมาต้อนรับพร้อมกับพูดคุยถามสารทุกข์สุกดิบด้วยทาทางยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นกันเอง
เมื่อมองออกไปนอกหน้าต่างจะเห็นขุนเขาติดกันเป็นเทือกยาวลำธารคิดเคี้ยวอยู่เบื้องล่าง และอีกด้านหนึ่งมองออกไปจะเห็นสีเขียวของไร่ชาดูงดงามลดหลั่นลงไปเหมือนขั้นบันใด บางครั้งมีลมเย็นพัดโชยเข้ามาทางหน้าต่างช่องเล็ก ๆ เหมือนติดแอร์คอนดิชั่นเลยทีเดียว ภายในห้องสิ่งของเครื่องใช้ถูกจัดไว้อย่างเป็นระเบียบ ที่มุมห้องมีโต๊ะบูชา อีกมุมสำหรับนั่งนอนบนเตียงซึ่งมีเครื่องนอนกองเป็นตั้งสูง
ครอบครัวของชาวดาร์จีลิ่ง ส่วนใหญ่ก็จะคล้าย ๆ กัน เช่น ครอบครัวชาวทิเบตซึ่งดูแลวัดที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟ ชื่อ “The Himalayan Buddhist Society” ครอบครัวนี้จะให้การต้อนรับพระสงฆ์บ่อยโดยเฉพาะจากประเทศไทย ทุกครั้งที่ไปแวะก็จะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี มีห้องให้พัก และทำอาหารเช้าอาหารเพลถวาย ท่านพระครูศรีปริยัติสุนทรหรือหลวงพ่อน้อย ได้นัดพบคณะของพวกเรา ไปฉันภัตตาหารเพลเป็นบางครั้ง ซึ่งเจ้าของบ้านทำหน้าที่ดูแลวัดคอยให้การต้อนรับพระสงฆ์และพระลามะเวลาเดินทางมาประกอบพิธีและพักอยู่ที่นี่เป็นครั้งคราว เจ้าของผู้ดูแลวัดนี้จะพูดแต่ภาษาทิเบตและไม่ค่อยพูดภาษาอังกฤษ จึงได้มอบให้ลูก ๆ มี Tashi, Dicky และ Dawa สามพี่น้องซึ่งกำลังเรียนหนังสือ อยู่ชั้นประถมและมัธยมตามลำดับ สมารถพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วมาให้การต้อนรับพูดคุย
เด็ก ๆ ในครอบครัวนี้ เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อด้วยความสนิทสนม มาให้การต้อนรับและอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ น จัดน้ำร้อนน้ำชาถวาย จัดเตรียมอาหารเช้า – เพล ทุกครั้งที่มีพระไปเยี่ยม เด็ก ๆ เหล่านี้จะดีใจมาก เพราะมีขนมกินและรับแจกของฝากจากเมืองไทย เช่น อาหารแห้งประเภท มาม่า ปลากระป๋อง น้ำพริกต่าง ๆ เป็นต้น
ส่วนชั้นบนของที่พักเป็นห้องพระประธาน มีพระประธานและระฆังใบใหญ่ที่ได้รับบริจาค ที่นำมาจากประเทศไทยโดยท่านอาจารย์ ดร.พระมหาบาง เขมานนฺโท เป็นผุ้นำศรัทธาญาติโยมมาจากเมืองไทยมาถวายไว้ เป็นสถานที่ไหว้พระสวดมนต์และนั่งสมาธิ ทุกครั้งที่พวกเรามาเยี่ยมวัดแห่งนี้ ก็จะขึ้นไปทำวัตรสวดมนต์ นั่งสมาธิทุกครั้ง เป็ฯบรรยากาศที่ดีมาก เงียบสงบ และถ้ามองออกไปนอกหน้าต่าง ก็จะมองเห็นยอดภูเขาคังเซ็นชุงก้าที่มีหิมะปกคลุมขาวโพลนอยู่ตลอดปี เป็นมนต์ขลังของดาร์จีลิ่งอย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย
อีกครอบครัวหนึ่งคือ ครอบครัวโดม่า เป็นครอบครัวเชื้อสายภูฏาน บานอยู่บนยอดเขาสูงใกล้ ๆ ทีวีเทาเวอร์ ครอบครัวนี้ก็มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับพระสงฆ์ไทยเป็ฯอย่างดี
ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าพร้อมด้วยคณะได้รับนิมนต์ไปร่วมสวดมนต์อวยพรวันเกิด อาจารย์โสวิทย์ บำรุงภักดิ์ ซึ่งรู้จักคุ้นเคยกับเข้าของบ้านเป็นอย่างดี คือคุณ Ryden เป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้กับพระและนักศึกษาไทยที่ชอบไปเรียนภาษาอังกฤษเสริมที่นี่ ทุก ๆ ครั้งที่ข้าพเจ้าเดินทางมาดาร์จีลิ่ง เมื่อครอบครัวนี้รู้ข่าวก็จะนิมนต์ให้ไปฉันเพลที่บ้านบ้านเสมอ การต้อนรับขับสู้เป็นแบบพี่แบบน้อง เป็นครอบครัวชาวพุทธซึ่งคุณพ่อเคยเป็นลามะมาก่อนและการดำรงชีวิตโดยทั่วไปก็เป็นแบบวิ๔ถีชีวิตของชาวพุทธมหายานที่เคร่งครัดในศาสนาทั่วไป คือชีวิตจะอยู่กับการสวดมนต์และท่องบ่นสาธยายพระธรรมคัมภีร์ต่าง ๆ เป็นประจำ

ครอบครัวปฏิบัติธรรมชาร์มา (Sharma)
เป็นอีกครอบครัวหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมเยือน และมีความประทับใจในวิธีชีวิตความเป็นอยู่ระหว่างพ่อ แม่ และมีลูก ๓ คน ได้นิมนต์ข้าพเจ้าพร้อมกับท่านพระมหาสายันต์ ไปเยี่ยมที่บ้าน เหตุที่ได้เจอกันก็เพราะการเดิน (ออกกำลังในตอนเช้าแทนการบิณฑบาต) ได้พลปะพูดคุยสนทนากันในฐานะคนแปลกหน้า แต่เป็นจุดสนใจเพราะเห็นว่าเราเป็น “พระ” ดูการแต่งตัวก็แปลกจากคนธรรมดาอยู่แล้ว เลยได้เรื่องพูดคุยสนทนามากขึ้นทั้งในเรื่องของพระสงฆ์ วัดวาอาราม ความเป็นอยู่ของคนไทย
พวกเราได้รับเชิญเข้าไปนั่งยังห้องรับแขก ซึ่งถูกจัดไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ถัดจากห้องรับแขกไปเป็นห้องพระขนาดใหญ่ มีโต๊ะบูชาและตั้งรูปเคารพอยู่เต็ม ครอบครัวนี้เป็นชาวฮินดูที่เคร่งครัดมาก และให้ความเคารพนับถือท่าน ภควัน ไสบาบา อย่างมาก มองดูที่ฝาผนังห้องพระ จะมีรูปท่านติดเต็มไปหมด และนออกจากจะมีรูปเคาพรในศาสนาฮินดูแล้ว ก็ยังมีพระพุทธรูปด้วย น้องสาวคนเล็กชื่อ สุสัมปันนา วิ่งเข้าไปในห้องพระแล้วนำพระพุทธรูปออกมาอวดพวกเรา บอกว่านี่ ภันเต! ..ฉันก็เคารพท่าน ภควัน พุทธะ ด้วยนะ
หลังจากที่พวกเรานั่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ชาร้อน ๆ แบบสไตล์ “กลัมจาย” ของดาร์จีลิ่งก็ถูกเสิร์ฟแก้หนาวก่อนที่จะได้รับการแนะนำจากสวัสดิกะ ลูกสาวคนโน ให้รู้จักกับคุณพ่อซึ่งทำงานเป็นเจ้าหนที่ของที่ทำการไปรษณีย์ดาร์จีลิ่ง และแม่เป็นครูสอนเด็กประถมแห่งหนึ่ง ส่วนน้องชายไปเรียนหนังสืออีกเมืองหนึ่ง (กาลิมปง)
ในการพูดคุยสนทนาส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องธรรมะและการปฏิบัติซึ่งได้รับความสนใจมาก มีคำถามขึ้นมาเป็นระยะ และเมื่อเราถามถึงการประพฤติปฏิบัติของครอบครัวนี้ ก็ได้รับคำตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเราปฏิบัติธรรมกันหมดทุกคน เช้าหรือเย็น พ่อ แม่ ลูก จะเข้าห้องพระสวดมนต์พร้อมกัน ทำอย่างนี้เป็นกิจวัตร หรือถ้าใครไม่สบาย หรือขาดไปไม่อยู่บ้าน ผู้ที่อยู่บ้านจะทำแทน และเมื่อกลับมาก็จะนำผง (เหมือนขี้ธูป) ออกมาแจกให้เจิมที่หน้าผากและแตะที่ลิ้น เป็นการอวยชัยให้พรกัน และก่อนที่เด็ก ๆ จะออกจากบ้านไปเรียนหนังสือตอนเช้า ก็ต้องเข้าห้องพระรับการเจิมหน้าผากก่อน เพื่อความเป็นเสริมมงคล นอกจากนี้ก่อนที่พวกเราจะลากลับ ทั้งครอบครัวยังได้ร้องเพลง (บทสวดสรรเสริญ) พระเจ้าให้เราฟังเป็นบทกล่อมใน ภควคีตา เป็นการให้พรพวกเราโดยเฉพาะลูกสาวคนเล็ก สุสัมปันนา เป็นต้นเสียงให้ พ่อกับแม่และพี่สาวก็ร้องตาม ลูกชายเล่นกีต้าร์ สวัสดิกะ ลูกสาวคนโตเคาะกรับไปด้วยด้วยเป็นการให้จังหวะ เรียกว่าประทับใจทั่งผู้ให้และผู้รับเลยทีเดียว
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายครอบครัวที่มีน้ำใจต่อข้าพเจ้าและเพื่อน ๆ ที่ไปเยือนดาร์จีลิ่ง ต่างได้รับความประทับใจเช่นเดียวกัน จนอดใจหายไม่ได้ในวันที่จะบอกลากลับเมืองไทย แต่ความประทับใจเหล่านั้นก็ไม่เคยลืมเลือนไปจากความทรงจำ ถึงแม้จะไม่ได้บันทึกไว้ในสมุด Diary แต่ได้บันทึกไว้ใน Memory แทน ยังระลึกถึงความมีน้ำใจอยู่ตลอดเวลา

เยี่ยมงานศพ (วิถีคนภูเขา)
ตอนบ่ายวันหนึ่งขณะที่ข้าพเจ้านั่งอ่านหนังสืออยู่ในห้องพัก สังเกตเห็น คนเดินขวักไขว่ไปมาอยู่หลังบ้านมากผิดปกติ สอบถามเจ้าของบ้านทราบว่าญาติห่าง ๆ ได้เสียชีวิตลงเมื่อคืนที่แล้ว พอวันรุ่งขึ้นเด็ก ๆ ลูกหลานไม่ไดไปโรงเรียน แต่เห็ฯแต่งชุดดำกันก็เลยรู้ว่าคุณยายเขาได้จากไปอย่างสงบด้วยอายุเพียง ๖๓ ปี ทราบชื่อายหลังคือ คุณยายมันดีป ตามัง (Mandeep Tamang)
เมื่อเอ่ยถึงนามสกุลตามัง ก็ทราบได้ทันทีว่าเป็นตระกูลชาวพุทธ (มาหยาน) ซึ่งชาวพุทธในดาร์จีลิ่ง จะมีไม่กี่ตะกูล เช่น ตามัง (Tamang) เลปชา (Lepcha) เชอร์ปา (Sherpa) และ ลามะ (Lama) นอกนั้นก็เป็นชาวฮินดูบ้าง ขาวคริสต์บ้าง และมีมุสลิมบ้างเล็กน้อย แต่ประชากรส่วนใหญ่จะเป็นชาวพุทธแบบมหายาน มีวัดประจำตระกูลชื่อวัดตามังที่ถนนตุงซุง
ข้าพเจ้าและท่านพระมหาสายัณต์ ได้มีโอกาสไปเยี่ยมศพและตั้งใจที่จะไปศึกษาการจัดงานศีพของชาวดาร์จีลิ่งด้วย จึงได้เตรียมกล้องถ่ายรูปและกล้องวีดีโอไปด้วย เผื่อจะได้บันทึกภาพแปลก ๆ มาฝากคนทางบ้านเราที่ไม่เคยเห็น ก็ไม่ผิดหวัง พวกเราเดินทางไปถึงบ้านงานศพประมาณเที่ยงครึ่ง เด็ก ๆ นักเรียนที่คุ้นเคยกัน มี Pinky, Dipti Anu, Rita ซึ่งเป็นหลานของผู้ตายได้ออกมารับที่หน้าบ้านด้วยท่าทางตื่นเต้นดีใจไม่นึกว่าเราจะไปเยี่ยมศพคุณยายของพวกเขา
บ้านของคนที่นี่ก็ทราบดีอยู่แล้ว ไม่ได้กว้างขวางใหญ่โตอะไร เพราะต้องปลูกไว้บนไหล่เขา ไม่มีพื้นราบเพียงพอที่จะสร้างบ้านหลังใหญ่ ๆ
พวกเขาพาเราเข้าไปที่ห้องรับแขก ซึ่งมีโซฟายาวอยู่ตัวหนึ่งตั้งอยู่ที่มุมห้อง และอีกด้านหนึ่งเป็นที่วางศพผู้ตาย ซึ่งเอานอนไว้เฉย ๆ ไม่ได้ใส่โลง จัดให้นอนห่มผ้าเหมือนคนนอนหลับ แปลกแม่ที่บนหัวนอนจะวางมีดดาบความยาขนาดแขนได้ และจุดตะเกียงไว้ดวงหนึ่ง เยื้องๆ ด้านศีรษะของศพจะเป็นโต๊ะวางเครื่องประกอบพิธีศพ มีพระลามะ ๓ รูป นิมนต์มาจากวัดตามัง กำลังง่วนอยู่กับการปั้นแป้งข้าวสาลีผสมน้ำมันเนยเป็นรูปเจดีย์เล็ก ๆ ใส่ปากถ้วยขนาดถ้วยข้าวต้ม ประดับประดายอดเจดีย์ด้วยลายดอกไม้สวยงามที่ปั้นขึ้นจากแป้งชนิดเดียวกัน แต่บางที่ก็ผสมสีแดง สีชมพูด ดูคล้ายายศรีปากชาม (หรือขันหมากเบ็งภาคอีสาน)
เมื่อสอบถามได้ความว่า ทำเพื่อประกอบในพิธีสวดศพ พอบ่าย ๆ ชาวบ้านที่รู้ข่าวเริ่มทยอยกันมาเคารพศพ ตามธรรมเนียมจะมีดอกไม้และธูปเป็นห่อ ๆ และที่ขาดไม่ได้คือผ้าปะฏะ คือผ้าขาวบางทอดอย่างดี ด้วยเส้นไหมหรือใยสังเคราะห์ ขนาดเท่าผ้าพันคอ หรือผ้าสไบเฉียงของคนแก่เวลาไปวัดบ้านเรา เมื่อมาถึงจะวางดอกไม้ไว้ที่อกหรือที่เท้าของศพและวางห่อธูปไว้ที่ศีรษะ แล้วก็คลี่ผ้าปะฏะห่มให้ศพ ไหว้ที่เท้า + ครั่ง แล้วถอยออกไป ไม่มีการจุดธูปเทียนบูชา
ส่วนพระลามะเมื่อทำเครื่องประกอบพิธีเสร็จแล้วได้นำขึ้นตั้งที่หิ้งบูชาพระประจำบ้าน จุดประทีปน้ำมันเนย ๑๐๘ ดวง (เป็นถ้วยทองเหลืองเมหือนเชิงเทียน) ซึ่งมีเครื่องประกอบพิธีสวดดังนี้ ปี่ หรือแตร ปากบาน ๒ เลา ฉาบ ๒ คู่ (ขนาดเล็ก,ใหญ่) กลอง ๑ ใบ บัณเฑาะก์ ๑ อัน หอยสังข์ ๑ ตัว กระดิ่ง ๑ ใบ วัชระ (ตรีเพชร) ๑ อัน กาน้ำมนต์ ซึ่ง มีขนนกยูงเป็นเครื่องประพรม ๑ อัน เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วก็เริ่มสวดมนต์เป็ฯภาษาทิเบต โดยหัวหน้าและองค์ที่สองจะเป่าแตร องค์ที่สามตีฉาบและกลองไปพร้อม ๆ กัน เป็นการโหมโรงก่อนจะขึ้นบทพระสูตรต่าง ๆ และจะเป่าแตร ตีฉาบ ตีกลอง สลับไปเรื่อย ๆ เมื่อจบพระสูตรบทหนึ่ง ๆ ถามท่านลามะบอกว่าจะสวดตั้งแต่ ๔ โมงเย็นวันนี้แล้วก็ไปเสร็จเอา ๗ โมงเช้าพรุ่งนี้ (สวดกันทั้งคืนเหมือนพิธีพุทธาภิเษกเลย) แล้วจะนำศพไปเผาในตอนบ่ายพรุ่งนี้ ฝ่ายญาติ ๆ ทั้งหลาย มีลูก หลาน และเพื่อนบานที่ใกล้เคียง จะเข้ามาเคารพศพเป็นระยะ ๆ เหมือนกับพิธีทำศพชาวจีนในประเทศไทย ส่วนเครื่องเซ่นบูชาศพก็มี กล้วยสุก ข้าตอก ธูป ผงกำยาน ประทีปน้ำมันเนย หลังจากพระสวดไปแล้วหลายจบ ก็จะมีคณะลูกหลานเข้ามาเคารพโดยถือจอกประทีปน้ำมันเนย และดอกไม้โดยพระลามะจะส่งให้ถึงมือแล้วก็คุกเข่าถือจอกประทีปเอาไว้ จนจบบทจากนั้นก็จะส่งถาดข้าวตอกพร้อมด้วยกล้วยและจอกนมสด ซึ่งลูกหลานรับแล้วนำออกไปข้างนอกบ้านพร้อมด้วยพระลามะจะสาดน้ำมนต์ใส่แล้วผุ้ทำหน้าที่ก็จะออกไปข้างนอกบ้านเหมือนการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลหรือสวดส่งวิญญาณ การสวดดำเนินไปอย่างนี้เรื่อย ๆ จนถึงเวลาพระลามะพักประมาณ ๗ โมงเย็น คุณนามตาซึ่งเป็นเจ้าของบ้านที่พวกเราไปพักได้นิมนต์ให้ขึ้นสวดศพด้วยในฐานะทีเราเป็นพระภิกษุ (ไทย) ในพระพุทธศาสนา ทางเจ้าภาพก็แสนจะตื่นเต้นและดีใจที่ได้พระจากต่างประเทศมาสวดให้ ข้าพเจ้าพร้อมด้วยท่านมหาสายันต์ ได้สวดอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ต่อด้วยมาติกา และบังสุกุล กรวดน้ำให้พรเป็นภาษาบาลีเป็นอันเสร็จพิธี
จากนั้นได้อธิบายธรรมะและอธิบายความหมายของบทสวดต่าง ๆ ให้เป็นที่เจริญศรัทธาแก่เจ้าภาพ พอสมควรแก่เวลาแล้วก็เดินทางกลับที่พัก


มนต์ขลังดาร์จีลิ่ง
การได้เดินทางมาเยี่ยมชมสถานที่ที่ทำให้เกิดความประทับใจที่ใดสัก แห่งหนึ่ง ก็อดไม่ได้ที่จะหาคำจำกัดความของสถานที่นั้น ๆ อย่างความประทับใจที่เมืองดาร์จีลิ่ง แห่งนี้ก็พอที่จะกล่าวได้ว่า เป็นดินแดนแห่ง ภูเขาสูง น้ำตกใส ไร่ชาสวย ดอกไม้งาม และน้ำใจ (ผู้คน) ดี และไม่มีสิ่งใดที่จะสะดุดตาไปกว่าภูมิประเทศอันงดงามดึงดูดใจนักเท่องเที่ยวให้มาเยือน บวกกับอัธยาศัยไมตรีของเจ้าถิ่น และบรรยากาศแห่งสันติธรรม รวมทั้งความศักดิ์สิทธิ์ที่แรกอยู่ทุกหนทุกแห่งของดินแดนที่อยู่ในอ้อมกอดแห่งหิมาลัยนี้
ถึงแม้จะมีอารยธรรมตะวันตกที่ไหลบ่าเข้ามาท่วมทับเป็นครั้งคราวพร้อมกับขบวนคาราวานของนักเท่องเที่ยวในแต่ละปี แต่รัศมีแห่งธรรมะ ขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมก็ยังคงรักษาอยู่ตามครรลองแห่งพุทธธรรม ยังคงเจิดจ้าท้ายทายการไปพิสูจน์ และยังคงทำให้สภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนต่อจิตวิญญาณ เป็นรากฐานแหงชีวิตที่หาได้ยากในโลกเราปัจจุบันนี้
วิถีชีวิตของคนภูเขายังเป็นแบบอย่างที่ดีมีคุณค่าต่อการดำรงชีวิตที่อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ก็ได้แต่ภาวนาขอให้ชาวดาร์จีลิ่งรักษาเอกลักษณ์ที่น่าชื่นชมนี้ไว้ในท่ามกลางกระแสแห่งวัฒนธรรมตะวันตกในยุคสหัสวรรษใหม่ เพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนทางจิตวิญญาณ และเป็นแหล่งศึกษาวัฒนธรรมย้อนยุค และความหลากหลายทางชีวภาพต่อไป


สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในเมืองดาร์จีลิ่ง
ชม อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ดาร์จีลิ่ง หรือ War Memorial, Batasia Loop เป็นจุดชมวิวอีกแห่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาด ถ้านั่งรถไฟ Toy Train มาถึงตรงนี้ก็จะหยุดให้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก รถไฟจะวิ่งเป็นวงกลมรอบอนุสาวรีย์ ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาเหมือนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิบ้านเรา เป็ฯอสุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงทหารผ่านศึกเช่นเดียวกัน เวลาท้องฟ้าแจ่มใสจะมองเห็นยอดเขาคังเซ็นชุงก้าได้อย่างสวยงามมาก
ชม ไร่ชาสวย ด้วยโรปเวย์ (Ropeway) ถ้าเดินตามถนนจากจุดนัดพบ จอร์รัสตา อ้อมไปด้านหลังภูเขาตรงที่เรียกว่า สิงมาลี ผ่านสวนสัตว์ลงไป จะเป็นสถานีสำหรับนั่งกระเช้าไฟฟ้า หรือ Ropeway ลงไปชมหมู่บ้านในท่ามกลางไร่ชา และได้ชมบรรยากาศที่สวยงามด้วยทิวทัศน์เพราะความสูงจะมองเห็นได้รอบทิศ เป็นที่นิยมของนักเท่องเที่ยวมากจากนั้นถ้าเดินเท้า หรือนั่งรถไปตามไร่ชา ซึ่งจะมีกร่ท่อมอยู่ริมข้างทางเจ้าของจะออกมาเชื้อเชิญด้วยอัธยาศัยไมตรีให้เราเข้าไปชิมน้ำชารสเลิศซึ่งจะชงให้ชิมด้วยความพิถีพิถัน และถ้าถูกคอถูกใจก็ซื้อกลับบ้านเป็นของฝากได้ ชาดาร์จีลิ่งถือว่ามีชื่อเสียงมากในแถบเทือกเขาหิมาลัย
ชมสวนพฤษษศาสตร์ สวยงามตลอดปี โดยมีฉากหลังเป็นยอดเขาคังเซ็นซุงก้า (Kangchendzonga) ที่มีหิมะขาวโพลนปกคลุมตลอดปีที่สวนสาธารณะบนยอดเขาสูง ชื่อ ชรับเบอร์รี่ พาร์ค (Shrubbery Park) บรรยากาศจะสวยไปคนละแบบกับสวนพฤกษศาสตร์ (Botanical Garden) เพราะอยู่ในที่สูงได้รับแสงอาทิตย์ตลอดเวลา
ชมน้ำตกใสที่ จันนุ ซัมเมอร์ ฟอลส์ (Chunnu Summer Falls (Rock Garden) เนื่องจากบรรยากาศที่สวยงามอยู่แล้ว สายน้ำตกที่ไหลลงมาจากหุบเขาสูง ตกกระทบก้อนหินแตกกระจายเป็นฝอย น้ำใสไหลเย็นเป็นธาร ทำให้เพิ่มบรรยากาศที่ตื่นตาตื่นใจยิ่งขึ้น เมื่อได้ยินเสียงซ่า ๆ มาแต่ไกล ยิ่งอยากจะเข้าใกล้และสัมผัส
ชมน้ำตกสวย ทะเลสาบใส ที่ คงคามายา พาร์ค (Gangamaya Park) จากน้ำตกใสไหลเป็นธาร เมื่อไหลไปรวมกันเป็ฯแอ่งน้ำนระหว่างหุบเขาจึงเกิดเป็นทะเลสาบเล็ก ๆ ขึ้น น้ำที่ใสเย็นเหมือนกับกระจกเงา ที่ส่องสะท้อนให้เห็นเงาของภูเขาและแมกไม้ใกล้ลำธารนั้นจัดเจนยิ่งขึ้น มีเรือลำน้อยจอดเทียบท่าอยู่ ๒-๓ ลำ รอคอยหนุ่มสาวที่จะเกี่ยวก้อยกันลงไปพายเรือเล่นชมบรรยากาศ และคุยกันด้วยภาษาดอกไม้อย่างน่าภิรมย์ใจ
ชม ยอดเขาหัวพญานาค ที่ มหาเทวธรรม (Mahadev Dhama Park at Jorepokhri) ชื่อนี้คงจะไม่คุ้นเคยเท่าไรสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีเวลาไปเยือนดาร์จีลิ่งไม่นาน เพราะสถานที่ไม่ได้อยู่ในเส้นทางการเยี่ยมชมได้ง่าย ๆ ต้องนั่งรถออกไปอีกเมืองหนึ่ง ชื่อเมือง สุขียะ (Kukhya) เมื่อรถจอดในตัวเมืองแล้วต้องเดินขึ้นภูเขาไปอีกประมาณ ๕๐๐ เมตร สองข้างทางจะเป็นสนภูเขาต้นใหญ่ ๆ ขึ้นหนาทึบ และเมื่อถึงยอดเขาจะมีหมอกลงเป็นควันขาวมืดครึ้มตลอดเวลา ถ้าหน้าหนาวจัดจะมีหิมะตกด้วย โชคดีวันที่พวกเราไปเยือน อากาศดีพอที่จะถ่ายรูปได้ แต่ก็มีหมอกลงหนาเป็นบางคราว จุดที่น่าสนใจและถ่ายรูปมาฝากเห็นจะเป็นหัวพญานาคแผ่พังพานอยู่กลางสระน้ำขนาดใหญ่ มองดูขนาดลำตัวพญานาคที่ปิ่มน้ำอยู่เหมือนกับจะเลื้อยขึ้นมาทักทายผู้มาเยือน โชคดีเรามีไกด์นำทาง คือ Pinky, Dipti and Luckpa เจ้าถิ่นชำนาญทางเป็นอย่างดี จึงทำให้หายกลัวไปเยอะเลย
ชมสวนพฤษศาสตร์เมืองหนาว (Darjeeling Botanical Garden) จุดนี้ก็สำคัญไม่ควรพลาดสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีอารมณ์สุนทรีย์ รักธรรมชาติและชอบชมสวนไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว รับรองไม่ผิดหวังแน่ ข้าพเจ้าและเพื่อน ๆ มีโอกาสไปหลายครั้ง เพราะแต่ละฤดูกาลจะมีดอกไม้ไม่เหมือนกัน ยิ่งถ้าไปถูกช่วงฤดูใบไม้ผลิ (Spring) ในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม จะมีดอกไม้บานสะพรั่ง สวยงามมาก มีทั้ง Azalea, Magnolia, Camelia, Defferdill, Pancy และกุหลาบพันธุ์ต่าง ๆ ดอกไม้ใหญ่ ๆ กลิ่นหอมชื่นใจ อยู่บนไหล่เขา มองลงไปอีกด้านเป็นไร่ชาเขียวสดตลอดปี
ชมพิพิธภัณฑ์ที่สถาบันปีนภูเขา (Himalayan Mountaineering Institute Darjeeling) เป็นสถานที่รวบรวมเรื่องราวประวัติศาสตร์ของนักไต่ภูเขา โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการปีนเขาเอฟเวอร์เรสท์ที่สูงที่สุดในโลก มีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว บางครั้งต้องเอาชีวิตไปสังเวยก็มาก เป็นข้อมูลที่น่าศึกษาเยี่ยมชมอย่างยิ่ง
เยี่ยม หลุมฝังศพบุรุษเหล็กคนแรกที่พิชิตยอดเขาเอฟเวอร์เรสท์ เซอร์ปา เทนซิง นอร์เกย์ (Sherpa Tenzing Norgay) ชาวดาร์จีลิ่งเป็นคนแรกของโลกที่ได้ปีนขึ้นไปพิชิตยอดเขาเอฟเวอร์เรสท์ที่สูงที่สุดในโลก พร้อมกับเพื่อนชาวอังกฤษ ชื่อ Sir Edmund Hillary ได้สำเร็จใน วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๙ ทำให้เขาแนะนำให้รัฐบาลอินเดียตั้งสถาบันปีนภูเขาขึ้นชื่อว่า Himalayan Mountaineering Institute Darjeeling
ชม ชีวิตสัตว์หายากใกล้สูญพันธ์ ที่ Padmaja Naidu Himalayan Zoo Zoological Park เช่น หมีแพนด้าแดง (Red Panda) มีแห่งเดียวในโลก คือแถบเทือกเขาดาร์จีลิ่ง (มีอาหารและอากาศเหมาะกับความเป็นอยู่) และสิงโตหิมะ (Snow leopard) ใกล้สูญพันธ์ มีเพียงแห่งเดียวที่สวนสัตว์นี้ นอกจากนี้ก็มีเสือเบงกอล เสือโคร่งไซบีเรีย และสุนัขป่าทิเบต (Tibetan Wolf) ที่หาดูได้ยาก
เยี่ยมศูนย์ศิลปาชีพชาวทิเบต ชมศิลปหัตถกรรม วิถีชีวิตความเป็ฯอยู่ของชาวทิเบตที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองดาร์จีลิ่งและได้เข้าเยิ่ยมชมโรงเรียนทิเบตศึกษาแบบโรงเรียนกินนินของเด็กกำพร้าและมีฐานะยากจนชาวทิเบต มีชื่อว่า Darjeeling Tibetan Educational Center พระลามะเป็นครูใหญ่ดูแลอย่างใกล้ชิด และเป็นผู้นำเด็กนักเรียนไหว้พระสวดมนต์ ให้คำแนะนำปรึกษาเรื่องธรรมะและพิธีกรรม
นมัสการ สันติเจดีย์ (Peace Pagoda) ที่วัดญี่ปุ่น องค์พระเจดีย์สีขาว สูงใหญ่รูปทรงขันคว่ำมองเด่นเป็นสง่าอยู่ท่ามกลางแมกไม้ป่าสนภูเขาที่ขึ้นอย่างหนาทึบ ด้านหลังเป็นฉากสีเขียวทำให้มองเห็นองค์พระเจดีย์เด่นชัดยิ่งขึ้น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เมื่อเดินเข้าไปใกล้ยิ่งประทับใจในศิลปะของประติมากรรม ภาพแกะสลักจากหินทราย ประดับไว้โดยรอบพระเจดีย์ เป็นเรื่องราวในพุทธประวัติ เช่น ภาพพระสุบินนิมิตของพระนางสิริมหามายา, ภาพตอนพระพุทธองค์ผจญมารในวันตรัสรู้, ภาพแสดงธรรมจักรฯ แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ และภาพกษัตริย์ที่ ๘ หัวเมืองนำพระบรมสารีริกธาตุกลับไปประดิษฐานไว้ในเมืองของตน ภาพเหล่านี้ประกอบระหว่างช่องที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมากร ปิดทองเหลืองอร่ามเป็น ๔ ซุ้มใน ๔ ทิศ เป็นปางแสดงสังเวชนียสถานทั้ง๔ คือ ปางประสูติ ปางตรัสรู้ ปางแสดงปฐมเทศนา และปางปรินิพพาน
บทส่งท้าย..ได้อะไรจากการไปเยือนดาร์จีลิ่ง
ข้าพเจ้าได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเขียนหนังสือ อ่านหนังสือ และพิมพ์บทความต่าง ๆ ลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ พยายามเขียนบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษ เช่นบันทึกไดอารี่, บันทึกความทรงจำครั้งหนึ่งในชีวิตที่ ดาร์จีลิ่ง และ สิกขิม แดนมหัศจรรย์ เป็นต้น ได้ใช้เวลาเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ รู้สึกคุ้มค่ากับเวลาที่ใช้ไป และเห็นคุณค่าของเวลามากขึ้น

ความรู้สึกที่ผุดขึ้นมาในขณะนั่งสมาธิ
การที่เราอยู่คนเดียวก็ดีแบบนี้แหละ ทำให้เราได้ดูจิตใจของตัวเองมากขึ้น เพราะขณะที่จิตคิดเราก็ตามดูมันไป แล้วก็ถึงบทสรุปว่า "จิตไม่เคยหยุดนิ่ง"
การที่เราอยู่กับคนหมู่มาก ก็เลยไม่มีเวลาที่จะคิดถึงเรื่องของตังเอง และชอบยุ่งอยู่กับเรื่องของคนอื่น หรือคนอื่นมาทำให้เรายุ่งอยู่ตลอดเวลา เจ้าชายสิทธัตถะถ้าไม่ตัดสินพระทัยเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ ก็คงจะไม่ได้พบอมตธรรมอันประเสริฐ เราก็เหมือนกันถ้าไม่ตัดสินใจหลีกเร้นออกจากหมู่ ก็คงจะไม่ได้ความคิดต่าง ๆ ที่มันเริ่มจะพรั่งพรูออกมาเป็นระลอก ๆ ได้รับประโยชน์ทั้งด้านความคิด-สติปัญญา และการปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในตัวของเราทุกคนอยู่แล้วสุดแท้แต่ว่า คนเราจะให้โอกาสแก่ตนเองแค่ไหนเพียงไร ถ้ามีเวลาเป็นตัวของตัวเอง "หยุดสักนิด คิดสักหน่อย" เราก็จะมองเห็นทางออกให้แก่ตัวเอง จะไม่มัวงมโข่งดักดานอยู่กับที่ เหมือนนกกระเรียนแก่ตัวมีขนปีกหมดสิ้นแล้ว ยืนเจ่าอยู่ในหนองน้ำ ที่กำลังจะแห้งขอด ฉันนั้น
การทำเช่นนี้เป็นการคืนกำไรให้กับตัวเอง ที่เราได้ให้แก่คนอื่นมามากแล้ว "เรารักตัวเอง มิใช่เราเห็นแก่ตัว ประโยชน์สูงสุดอันใดที่จะเกิดขึ้นกับข้าพเจ้า ก็จะให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษย์ชาติทั้งสิ้น" การได้ปลีกตัวหลีกเร้นเช่นนี้ ก็เป็นการฝึกฝนตนเองวิธีหนึ่ง ทั้งเป็นการฝึกหัด ดัดนิสัย ไม่ตามใจตัวเอง และที่สำคัญคือมองเห็นจิตใจตัวเองได้อย่างชัดเจน เพราะว่ามีเวลาในการพิจารณา พระพุทธองค์ก็เคยสอนเอาไว้แล้ว แม้แต่พระองค์เองก็ต้องมีเวลาพักเข้าฌานสมาบัติ หรือ เข้านิโรธสมาบัติ หรืออีกอย่างหนึ่งเรียกว่า "ปฏิสัลลี" การหลีกเร้นจากหมู่ เพื่อเป็นการพักผ่อนแห่งจิตวิญญาณอย่างแท้จริง
ดูเถิด…นั่งดูจิต…ดูความคิดที่แหลมคม
เหมือนเพชรอยู่ในตมต้องค้นหาจึงฉายแวว
ความคิดที่แล้ว ๆ (กำแพงความคิด)ยังฝังอยู่มิรู้คลาย
จะหาใครที่ไหน มาเข้าใจในจุดนี้
เว้นแต่พระมุนีผู้ยินดีในความสงบใจ.

Monday, September 19, 2005

ภาพประกอบตอนที่ ๒


ชาวเนปาลผู้ใจดี

รอยยิ้มพิมพ์ใจไร้มายา

เด็ก ๆ แก้มแดงไร้เดียงสา

ภาพประกอบตอนที่ ๒


พระอาทิตย์ขึ้นที่ "ไทเกอร์ ฮิลล์

ยอดเขาคังเซ็นซุงก้าในยามเช้าตรู่

กงล้อพระธรรม และธงคาถา

บ้านที่เชิงเขาตุงซุง

ธงคาถาบนเชิงเขา

ภาพประกอบตอนที่ ๒


การบูชาของชาวฮินดู


จอร์รัสตา (Chowrasta) จุดนัดพบหนุ่มสาว


เด็กสาวไหว้เจ้าแม่กาลี



ณ อาศรมเชิงเขาที่ตุงซุง

ภาพประกอบตอนที่ ๒


เด็กนักเรียนที่ดาร์จีลิ่ง

พระลามะกำลังสาธยายมนต์


อาศรมที่ตุงซุง(Toong Zoong)

ดาร์จีลิ่ง-สิกขิม (ตอนที่ ๒)




อาศรมสมถะ ณ เชิงเขาที่ Toong Soong

ตื่นตอนเช้ารับอรุณวันใหม่เปิดม่านออกไปจะเห็นดวงอาทิตย์โผล่พ้นยอดเขาสูงที่เรียกว่า "ไทเกอร์ ฮิลล์" (Tiger Hills) หรือภูเขาเสือลายพาดกลอน เป็นจุดสูงสุดและสามารถชมวิวได้ทั่วในแถบเทือกเขา ดาร์จีลิ่ง สามารถมองเห็นเทือกเขาหิมาลัยทั้งแถบ โดยเฉพาะยอดเขา "คังเซ็นชุงก้า" (Khangchendzonga) จะมองเห็นได้ชัดเจนมากในวันที่อากาศดีท้องฟ้าแจ่มใส ที่มาของชื่อภูเขาลูกนี้ก็คือ เป็นจุดชมวิวพระอา ทิตย์ขึ้นในยามเช้าตรู่ จะมองเห็นแสงสีต่าง ๆ อันเกิดจากแสงอาทิตย์ผ่านชั้นบรรยากาศ และเมฆหมอกจะ มองเห็นเป็นลายเหมือนลายเสือขึ้นจับขอบฟ้าก่อน และจึงกลายเป็นแสงสีอื่นๆ และรูปร่าง ต่าง ๆ แล้วแต่ชั้นบรรยากาศและอุณหภูมิของแต่ละฤดูกาล คนจึงตั้งชื่อยอดเขาลูกนี้ว่า "ไทเกอร์ ฮิลส์"

บ้านซึ่งเป็นที่พักหลังนี้ปลูกอยู่บนไหล่เขาสูงพอสมควรอยู่ด้านทิศตะวันออกของยอดเขาดาร์จีลิ่ง เวลาเช้าจึงได้เปรียบก่อนคือได้รับแสงอาทิตย์ก่อนที่อื่น ๆ เป็นบ้านของครอบครัวชาวพุทธเชื้อสายเนปาล ซึ่งได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เป็นชาวดอยที่ชอบอยู่บนภูเขาสูง ในครอบครัวนี้ มีพ่อ-แม่ และลูกสาว ๓ คน ลูกชาย ๑ คน คุณพ่อคุณแม่เกษียณแล้วอยู่ดูแลบ้านและเลี้ยงหลาน ๆ ลูกสาว คนโตชื่อ นามตา (Narmtar) แต่งงานแล้วมีอาชีพเป็นครูสอนโรงเรียนประถมในดาร์จีลิ่ง ลูกสาวคนรอง และลูกชายแต่งงานแล้วไปทำงานที่อื่น ส่วนลูกสาวคนเล็กชื่อ สลิตา(Salita) เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ในโรงเรียนนานาชาติที่เมืองไทย เพราะฉะนั้นครอบครัวนี้จึงมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับพระไทย และคนไทยเป็นอย่างดี
ในการมาพักครั้งนี้ได้รับการแนะนำจากท่านพระมหาพัน สุภาจาโร วัดไทยพุทธคยา ท่านเคยมาพัก เรียนภาษาอังกฤษที่ดาร์จีลิ่งเป็นเวลาหลายเดือนก็ได้รับการอุปถัมภ์จากครอบครัวนี้ด้วยดีทั้งที่พักและอาหาร เจ้าของบ้านได้ยกห้องพักพิเศษให้ ๑ ห้องแยกจากเจ้าของบ้านคนละชั้นมีประตูเข้าออกเป็นสัดส่วนเป็นห้อง ส่วนตัวใหญ่ขนาด ๒ เตียงนอน มีโต๊ะเขียนหนังสือ มีห้องน้ำในตัว และมีที่ทำครัวด้วย ที่สำคัญคือเป็นห้อง ยื่นออกไปทางทิศตะวันออกและมีแสงสว่างเข้าทั้งสองด้านชมวิวได้โดยรอบเงียบสงบเป็นที่ถูกใจสำหรับ ผู้ที่แสวงหาความสงบ และอ่านหนังสือ, เขียนหนังสือ ได้เป็นอย่างดี
เปิดม่านหน้าต่างรับอรุณในยามเช้าจะเห็นวิวสวยงามมากในตอนพระอาทิตย์กำลังขึ้นจะพ้นยอดเขา "ไทเกอร์ ฮิลส์" เป็นบรรยากาศที่ประทับใจมากๆ ในตอนที่แสงเงินแสงทอง จับขอบฟ้าซึ่งแต่ละวันจะ เปลี่ยนไปตามชั้นบรรยากาศ และอุณหภูมิ สวยเหมือนภาพในฝัน หรือภาพเขียนที่จิตรกร ผู้มีฝีมือดี ีได้บรรจงแต่งแต้มสีสรร ให้เจิดจ้าและนุ่มนวลอย่างลงตัว สวยงามจับใจจนยากที่จะหาคำบรรยาย

ในตอนเช้าเจ้าของบ้านจะส่งเด็กรับใช้ในบ้านนำชาร้อน ๆ และอาหารว่าง มาถวายก่อนอาหารเช้า และเตรียมน้ำใช้ น้ำฉันพร้อมด้วยทำความสะอาดห้องให้ด้วย ข้าพเจ้าบอกกับเจ้าของบ้านไว้ว่าไม่ฉันเช้า จะใช้เวลาช่วงนี้ออกเดิน(ออกกำลังกาย) เหมือนการออกเดินบิณฑบาตทุกๆ เช้าขึ้นไปบนยอดเขา ชื่อว่า Chowrasta ซึ่งอยู่สูงกว่าที่บ้านพักมากพอสมควรใช้เวลาเดินประมาณ ๑๕ นาที เพื่อขึ้นไปสวดมนต์, นั่งสมาธิ และฝึกโยคะด้วย ซึ่งก็ได้เริ่มปฏิบัติทุกวันไม่เคยขาดตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปอยู่




จอร์รัสตา (Chowrasta) จุดนัดพบของชาวดาร์จีลิ่ง

ตื่นนอนเวลาประมาณตี ๕ ทำกิจส่วนตัวเสร็จแล้วก็ออกเดินจากบ้านพักปีนเขาขึ้นไปบนยอดเขาสูงของ ดาร์จีลิ่ง คือ Chowrasta เป็นลานกว้างพอสมควร เป็นจุดนัดพบ เป็นที่นัดชุมนุมเหมือนลานเอนกประสงค์ ของคนเมืองนี้ ในตอนเช้า ก็เป็นที่เดินออกกำลังกาย ในตอนสาย ๆ ก็จะเป็นจุดนัดพบของนักท่องเที่ยว ที่จะไปที่ไหนลงจากเขาไปเหนือ-ใต้-ออก-ตก ก็จะมาเริ่มกัน ณ จุดนี้ก่อน รอบๆ ลานกว้างแห่งนี้ก็จะมีม้า นั่งเป็นแถวรอบ ๆ เป็นที่นั่งพักผ่อนและรอพบเพื่อนๆ และนอกจากนี้ก็ยังมีม้าไว้คอยบริการให้นั่งเที่ยวรอบ ๆ ลานนี้ด้วย คือเจ้าของม้าจะนำมาบริการนักท่องเที่ยวที่อยากลองขี่ม้าถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ส่วนมากก็จะเป็น เด็ก ๆ หรือไม่ก็คนที่ไปจากพื้นราบที่อยากหาประสบการณ์แปลก ๆ สนนราคาก็รอบละ ๑๐ รูปี

ตรงกลางของภูเขาลูกนี้ยังมียอดเขาสูงขึ้นไปอีกเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวเมืองคือเป็นศาสนสถาน ของฮินดู ชื่อวัดมหากาฬมัณดีร์(Mahakal Mandir) และถือว่าเป็นจุดชมวิว (Observatory Hill) สูงสุดของภูเขาดาร์จีลิ่ง นอกจากนี้รอบ ๆ ภูเขานี้ก็จะทำเป็นทางเดินโดยรอบ(ห้ามรถวิ่ง) เรียกว่า ดาร์จีลิ่ง มอลล์ (Darjeeling Mall) ให้ชาวเมืองได้มาเดิน-วิ่งออกกำลังกายในตอนเช้า ซึ่งก็เป็นสถานที่ดีมาก ยิ่งวันไหนอากาศแจ่มใสไร้เมฆหมอก มองไปด้านทิศเหนือของภูเขาลูกนี้ก็จะสามารถมองเห็นยอดเขา คังเซ็นชุงก้า(Khangchendzonga) ตั้งตระหง่านขาวโพลนด้วยหิมะปกคลุมอยู่ตลอดปี
ชาวเมืองนี้ถือว่ายอดเขาสูงเป็นที่สิงสถิตย์ของเทพเจ้าเหล่าเทวาทั้งหลายในตอนเช้าเมื่อออกจากบ้าน มาเห็นยอดภูเขาสูงก็ยกมือไหว้ (โดยเฉพาะ Khangchendzonga )สวดอ้อนวอนขอพร จากพระผู้เป็นเจ้า ตามความเชื่อของตน และอีกอย่างคือดวงอาทิตย์ หรือ สุริยเทพ เวลาเช้า ๆ ผู้คน(ฮินดู)ก็จะออกมาไหว้กัน เมื่อมองเห็นแสงดวงอาทิตย์ในยามเช้าถือว่าเป็นศิริมงคลแก่ชีวิต ดังคำกลอนที่กล่าวว่า ...
โอ้…คังเซ็นชุงก้า น่าเกรงขาม ภูเขาสูงเด่นงามยามฟ้าใส
มองผ่านเมฆม่านหมอกเห็นแต่ไกล ศูนย์รวมใจคนภูเขาเหล่าเทวา
ภูผาสูงแดนดินถิ่นศักดิ์สิทธิ์ ที่สถิตย์เทพเจ้าเฝ้าปกปักษ์
ภูเขาสูงเลื่องชื่อมานานนัก เห็นประจักษ์เบื้องหน้าพาสุขใจฯ

เมื่อมองเห็นภาพต่าง ๆ เหล่านี้แล้วก็อดนึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้ที่พระองค์เคยตรัสไว้ใน พระสูตรบท "เขมาเขมสรณทีปิกคาถา ที่ว่า มนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก เมื่อถูกภัย(คือความกลัว)คุกคามแล้ว ก็ถือเอาป่าไม้บ้าง ภูเขาบ้าง อาราม และรุกขเจดีย์บ้างเป็นสรณะ, นั่นมิใช่สรณะอันเกษมเลย นั่นมิใช่สรณะ อันสูงสุด เขาอาศัยสรณะนั้นแล้วย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้, แล้วพระองค์ก็ตรัสให้ถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะอันเกษม ว่าเป็นสรณะอันสูงสุด เขาอาศัยสรณะนั้นแล้วย่อมพ้นจาก ทุกข์ทั้งปวงได้" แม้อินเดียจะเป็นบ่อเกิดศาสนาพุทธ แต่ความเชื่อและประเพณีแปลก ๆ ต่าง ๆ ก็ยังปรากฏ ให้เห็นอยู่เป็นประจำ เพราะว่า
อินเดีย คือ แดนดินถิ่นพระเจ้า
อินเดีย มีหลายเผ่าหลายศาสนา
อินเดีย มีแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ชื่อคงคา
อินเดีย คือแดนภูผาหิมาลัย ฯ


ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองดาร์จีลิ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นชาวพุทธแบบมหายาน และเป็นชาวฮินดู นอกจากนั้นก็มีชาวคริสต์ (เจ้าของโรงเรียน หรือ วิทยาลัยที่มีชื่อของดาร์จีลิ่ง) และมีมุสลิมบ้างเล็กน้อย

ความใกล้ชิดเทพเจ้าของชาวฮินดู
บนยอดเขามหากาฬ มัณดีร์นี้(Mahakal Mandir) ถือว่าเป็นที่สถิตย์ของพระศิวะ(เขาไกรลาส) เป็นวัดของชาวฮินดู ซึ่งมีรูปเคารพอยู่หลายประเภทด้วยกัน คือ พระศิวะ มีรูปศิวลึงค์ เป็นเทพเจ้าที่ชาวฮินดูนับถืออย่างสูงสุด สาเหตุที่ชาวฮินดูเคารพศรัทธามากเพราะเป็นเทพเจ้าผู้ทำลาย คือจะต้องมาสวดอ้อนวอน ขอพร ทำการบูชา สักการะให้พระเจ้าทรงโปรด(ทำให้ถูกใจ) จะได้ประทานพรให้ มิใช่แต่ตัวท่านเท่านั้นที่ได้รับความเคารพ นับถือ แม้แต่ยานพาหนะของท่าน คือ โคนันทิ ก็ยังได้รับการบูชาสักการะจะสังเกตเห็นที่หน้าศาลรูปพระ ศิวะจะมีรูปโคนอน หรือยืนหมอบอยู่หน้าประตูทางเข้าก่อนเข้าหาพระเจ้า (ศิวะ)ก็ต้องไหว้พระพาหนะ ของพระองค์ก่อน ฉะนั้นวัวในประเทศอินเดีย จึงได้รับอภิสิทธิ์ในการเป็นอยู่อย่างอิสระ ไม่มีใครกล้าไปทำร้าย หรือทุบตี เพราะกลัวพระเจ้าจะลงโทษ ในเมืองต่างๆ ทั่วอินเดียจะเห็นวัวเดินตามถนน หรือเดินเพ่นพ่านในสถานที่ต่าง ๆ โดยได้รับการคุ้มครองดังกล่าวแล้ว
ในตอนเช้า ๆ ประชาชนชาวเมืองจะพกกันขึ้นไปไหว้พระขอพรเป็นประจำ บ้างก็เก็บดอกไม้ป่าตามข้างทางติดมือขึ้นไปไหว้พระเจ้าด้วย บ้างก็มีคณโฑน้ำนมสด และธูปเทียนของหอม เดินกันมาเป็นทิวแถว มีทั้งคนเฒ่าคนแก่ คนหนุ่มสาว รวมทั้งเด็ก ๆ ด้วย สองข้างทางขึ้นภูเขาก็จะมีผู้คนนำรูปเคารพต่าง ๆ มาวางเอาไว้ เช่น รูปภาพพระอิศวร(ศิวะ) พระแม่อุมาเทวี พระกฤษณะ พระนางสุรัสสวดี และรูปหนุมาน บางแห่งมีรูปพระพุทธเจ้าด้วย ให้ประชาชนได้วางดอกไม้บูชา และวางเงินเหรียญทำบุญ เป็นการหารายได้ของคนที่หากินแบบนี้อีกประเภทหนึ่งเหมือนกัน ซึ่งมีให้เห็นอยู่ทั่วไปตามวัดและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู
เมื่อขึ้นไปถึงยอดเขาซึ่งเป็นจุดสูงสุดแล้ว จะมีศาลาหรือคล้าย ๆ สถูปภายในศาลาที่ตั้งศิวลึงค์นั้นก็จะมีพราหมณ์ผู้ทำพิธีให้แก่ประชาชน(ชาวฮินดู) จะนั่งกล่าว (ร่ายมนต์) โองการอยู่ตลอดเวลา ผู้ที่มีน้ำนมไปก็จะรดลงที่รูปเคารพนั้น มีธูปหอม กำยาน ตะเกียงน้ำมันหอม และดอก ไม้ก็จัดการจุดบูชา และรับเจิมหน้าผากด้วยสีแดงและเมล็ดข้าวสาร จากพราหมณ์ผู้ทำพิธี แล้วจากนั้นก็ บริจาคเงินมากบ้างน้อยบ้างตามกำลังศรัทธา แล้วก็กลับบ้านด้วยความสบายใจ แต่ละซุ้มแต่ละศาลถัดจาก องค์กลางคือพระศิวะ ก็จะมีรูปเคารพของพระเจ้าองค์ต่าง ๆ เช่น ด้าน หน้าก็จะเป็นพระพิคเณศร์ ถัดไปก็จะเป็นพระนางอุมาเทวี อีกด้านหนึ่งก็จะเป็นพระนารายณ์ หรือพระ วิษณุ และอีกด้านหนึ่งก็จะเป็นเจ้าแม่กาลี ซึ่งเป็นเทพเจ้าประจำรัฐเวสท์เบงกอล โดยเฉพาะที่เมือง กัลกัตตา(Calcutta) ประชาชนจะให้ความเคารพนับถือรูปเคารพเหล่านี้มาก

การปฏิบัติของชาวพุทธมหายาน
อีกด้านหนึ่งของยอดเขานี้จะมีสถูปสีขาวแบบทิเบต ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนหน้าผาอีกด้านหนึ่ง ซึ่งรายรอบไปด้วยต้นสนภูเขาต้นใหญ่ใบสีเขียวสดตลอดปี ตัดกับสถูปสีขาวซึ่งตั้งสงบนิ่งอยู่อย่างน่าเกรงขาม เข้าใจว่าพระสถูปแห่งนี้จะเป็นที่บรรจุ พระธาตุ หรือคัมภีร์ที่สำคัญในพุทธศาสนานิกายมหายาน ซึ่งได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี ชาวพุทธทิเบต และชาวเนปาล ก็จะมาสวดมนต์เดินเวียนรอบพระสถูปนี้ มือก็นับลูกประคำ ปากก็ท่องคาถา "โอม มะณี ปัทเม หุม" ไปเรื่อย ๆ วันละเป็นหมื่น เป็นแสนรอบ ไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ ยิ่งสวดได้มากเท่าไร ก็ยิ่งเข้าใกล้ความเป็นพระโพธิสัตว์มากขึ้นเท่านั้น นี่เป็นความเชื่อของลัทธิลามะ หรือพระพุทธศาสนาแบบวัชรยาน จะมีการปฏิบัติแบบนี้ทั้งพระภิกษุ และฆราวาส

ธงคาถา และกงล้อธรรมจักร
จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งบนภูเขานี้ก็คือธงคาถา(จารึกคำสอนด้วยภาษาทิเบต) ของชาวพุทธทิเบต ที่นำขึ้นมาปัก และแขวนเป็นธงราว เต็มไปหมด มีสีแดง, สีขาว, สีเขียว, สีเหลือง และสีน้ำเงิน แทนธาตุทั้ง ๕ คือ น้ำ เหล็ก ไฟ ลม และดิน ธงเหล่านี้จะได้รับการปลุกเสกจากพระลามะก่อนจะนำไปปักหรือแขวน หรือบางครั้งก็ห้อยไว้บนต้นไม้สูงโดยเฉพาะที่ยอดเขาของดาร์จีลิ่งนี้จะมีธงคาถานี้เต็มไปหมดเพื่อถวาย เป็นพุทธบูชาคล้ายกับการสวดมนต์ และมีคติความเชื่อ ว่าเมื่อมีลมพัดธงคาถานี้โบกสะบัดไป ทางทิศใดก็จะได้นำแต่สิ่งที่เป็น สิริมงคลไปสู่ทิศนั้น นำความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย
บริเวณรอบ ๆ วัดหรือองค์เจดีย์ของวัดในนิกายลามะ จะมีกงล้อจารึกมนตรา หรือ บทสวดเป็นคาถาว่า “โอม มณี ปัทเม หุม” รอบ ๆมีลักษณะเป็นแท่งกลมขนาดต่าง ๆกัน มีทั้งเล็กและใหญ่แล้วแต่สถานที่ เคยเห็นบางวัด เช่นที่วัดตามังของชาวดาร์จีลิ่ง ที่ถนนกลางในเขตตุงซุง จะเป็นกงล้อขนาดใหญ่ มากต้องออกแรงหมุนอย่างแรงและจะมีระฆังใบเล็ก ๆแขวนไว้ข้าง ๆแท่งกงล้อ ข้างในมีกระดาษเขียนมนตราม้วนอยู่นับพันบท แกนกลางและแท่นยึดอยู่ด้านล่าง สามารถหมุนได้รอบ เมื่อหมุนครบ ๑ รอบระฆังจะดัง เขาให้หมุนครบ ๓ รอบ
บนแท่งกลมนี้เขาจะทาสีแดง หรือไม่ก็เคลือบได้ด้วยแผ่นทองเหลือง มีอักษรจารึกมนตราเป็นสีดำ ผู้คนที่มาสักการะจะเดินทักษิณาวรรตหมุนกงล้อนี้ไปเรื่อย ๆเหมือนกับไปสวดมนต์หลายพันบท บางหมู่บ้านจะทำกงล้อมนตราขนาดใหญ่บนทางน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขา ใช้ความแรงของสายน้ำเป็นพลังหมุนกงล้อ เพื่อให้เวทย์มนต์กระจายคุ้มครองหมู่บ้านได้ไม่รู้จบสิ้น

ลมพัดธงมนตรายามฟ้าสวย ดลใจด้วยตั้งจิตอธิษฐาน
ให้โลกมีสันติสุขทุกวันวาร ไม่ร้าวฉานรบรามุ่งฆ่าฟัน
หมุนกงล้อพระธรรมจบรอบทิศ ขอให้จิตสมมาตรปรารถนา
โลกสดสวยด้วยคนมีเมตตา ไม่บีฑาเบียดเบียนหมุนเวียนไป
ขอสายน้ำที่ไหลลงหมุนกงล้อ ช่วยสืบต่อพระธรรมนำสุขศานติ์
ให้มนุษย์มีธรรมะทุกคืนวัน เพิ่มสุขสันติ์ให้โลกนิจนิรันดร.

ความเชื่อเหล่านี้ ชาวตะวันตกอาจจะมองเห็นว่างมงายไร้สาระไม่มีเหตุผล แต่ความเชื่อและความลึกซึ้งทางด้านวัฒนธรรมของชาวตะวันออกเป็นเรื่องงดงามละเอียดอ่อน เป็นอุบายสอนคนอย่างหนึ่ง การอาศัยลมและน้ำวัตถุธาตุสำคัญที่เป็นองค์ประกอบของชีวิต ถ่ายทอด บทสวดมนต์ไปยังสรรพสัตว์ทั่วทุกทิศไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณเป็นเรื่องน่าประทับใจ และมองเห็นถึงความเมตตากรุณาในจิตใจของชาวพุทธ และการทำอย่างนี้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ เป็นจิตวิทยาชั้นสูงที่ใช้ได้กับชุมชน ให้มีศูนย์รวมใจเป็นหนึ่งเดียว อย่างน้อยการใฝ่ใจกับ การสวดมนต์ภาวนาก็ช่วยนำความสงบเย็นมาสู่จิตใจ ขจัดความคิดฟุ้งซ่าน และลืมความทุกข์ยากไปได้ ไม่ต้องอาศัยยาเสพย์ติด ยากล่อมประสาท เหมือนคนในสังคมที่เจริญ(ด้านวัตถุ)แล้วอย่างเช่นในปัจจุบัน

การประพฤติปฏิบัติของชาวเมืองนี้เป็นบรรยากาศแห่งการผสมผสานระหว่างศรัทธา คือความเชื่อ ของศาสนิกชนในแต่ละศาสนาได้ขึ้นมาปฏิบัติร่วมกัน ถึงแม้จะมีความเชื่อถือและแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกันอย่างไรก็ตาม แต่ก็มีจุดมุ่งหมายอันเดียวกัน นั่นก็คือต้องการให้ชีวิตมีความสุข ความเจริญ ปราศจากโรคภัย ไข้เจ็บเบียดเบียน สรุปแล้วก็คือต้องการที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกสันนิวาสนี้อย่างมีความสุขด้วยกันทุกคน สุดแท้แต่ว่าจะ หาที่พึ่งแบบไหน แต่คนเราก็ต้องมีที่พึ่งสักอย่างหนึ่งเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในยามที่มีความทุกข์ และความเดือดร้อนใจ

ข้าพเจ้าได้ใช้เวลาในตอนเช้าเดินรอบภูเขานี้ ๓ รอบทุกๆ วัน แล้วก็ขึ้นไปบนยอดเขา(ที่วัด) หาที่เหมาะสมเป็นม้านั่งด้านหน้าองค์สถูป นั่งสงบจิตสักครู่แล้วเริ่มสวดมนต์รำลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วสาธยายบทพระปริตรมงคล จบแล้ว นั่งสมาธิเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง จากนั้น แผ่เมตตาแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย แล้วเดินกลับที่พักด้วยจิตใจที่ปลอดโปร่งโลงสบาย มีกำลังกาย กำลังใจ เหมือนกับเราได้ชาร์จแบตเตอร์รี่ให้กับตัวเองอย่างเต็มที่ ทำอย่างนี้เป็นกิจวัตรประจำวันไม่เคยขาด

สภาพชีวิตชาวเมืองดาร์จีลิ่ง
ชีวิตของชาวเมืองในตอนเช้าเริ่มแออัดจอแจตั้งแต่ประมาณ ๗ โมงเช้าเป็นต้นไป บรรดาเด็กนักเรียน แต่งตัวด้วยชุดหลากสี หลากหลายรูปแบบตามแต่ละโรงเรียนกำหนด แต่งตัวดีมาก มีชุดประจำ โรงเรียน เดินออกจากบ้านเป็นกลุ่ม ๆ ส่วนมากจะเดินขึ้นเขา พี่จูงมือน้อง น้องเดินตามหลังพี่ เสียงพูดคุยกัน เป็นภาษาอังกฤษบ้าง ฮินดี หรือเนปาลีบ้าง ด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส โดยเฉพาะเด็ก ๆ จะแก้มแดง เหมือนลูกท้อ หรือเหมือนลูกตำลึงสุก แดงเองโดยธรรมชาติไม่มีการแต่งแต้มด้วยเครื่องสำอางค์หรือ เครื่องประทินผิวแต่อย่างใด เพราะอากาศหนาวและมีผิวพรรณดีตามธรรมชาติอยู่แล้วเป็นบรรยากาศที่หาดูได้ยากพอสมควร โดยสภาพพื้นที่แล้วต้องปีนเขาสูง และอากาศหนาวเย็นในยามเช้า แต่ดูทุกคน ก็มีความสุข มองดูสีหน้าและท่าทางไม่เครียดเหมือนคนในเมืองใหญ่ ๆ โดยเฉพาะคนในเมืองหลวงที่มีความเจริญทางด้านวัตถุและมีเทคโนโลยีเข้ามาเร่งรัดตัว วิ่งแข่งเวลา และทำให้เสียความรู้สึกอยู่บ่อย ๆ คนที่เมืองนี้จะมีสุขภาพกาย และสุขภาพจิตดี สังเกตจากสีหน้าและแววตา รวมทั้งความมีอัธยาศัยไมตรีต่อคนต่างถิ่น มีน้ำใจคอยช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างเห็นได้ชัด
ส่วนตามข้างถนนก็จะเต็มไปด้วยแม่ค้า-พ่อค้านำพืชผัก-ผลไม้มาขายเป็นเครื่องยังชีพขั้นพื้นฐาน ส่วนเนื้อ หรือปลานั้นไม่ค่อยมีมาก ส่วนใหญ่จะเก็บผักสวนครัวนำมาขายกัน ประมาณว่าผักเหล่านี้คงจะไร้สารพิษแน่นอน เพราะชาวเขาอยู่กับธรรมชาติ ก็คงใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยพืชสดเป็นส่วนมาก

กินง่าย-อยู่ง่าย ตามสไตล์คนภูเขา
ชาวบ้านที่นี่อยู่ง่าย-กินง่าย จะสังเกตเห็นการปลูกบ้านเรือนที่อยู่อาศัยหลังเล็ก ๆ ตามไหล่เขาบ้าน ไม่ต้องใหญ่โตเกินความจำเป็น แต่เพียงพอกับความต้องการและประโยชน์ใช้สอยจัดอย่างเป็นระเบียบเรียบ ร้อยเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ หน้าบ้านหรือตามราวบันไดก็ปลูกไม้ดอกหลากสีสรรตามฤดูกาล ปลูกไม้ ประดับใว้ให้เกิดความสดชื่นสวยงาม ถึงจะมีพื้นที่น้อยแต่ก็ใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า น่าชื่นชม
ส่วนการกินง่ายนั้นเล่าก็กินตามสภาพตามมีตามได้ ชาวบ้านจะกินผักเป็นส่วนใหญ่และที่ขาดไม่ได้คือ แกงดาล หรือแกงถั่ว ซึ่งจะมีทุกมื้อเป็นอาหารโปรตีน ชนิดเดียวที่ดีที่สุด โดยไม่ต้องบริโภคเนื้อสัตว์เพราะ หายาก และชาวเมืองนี้มีลักษณะนิสัยในการบริโภคที่พิเศษ คือถ้าเป็นชาวพุทธที่เคร่งครัดหน่อยก็จะบริโภค มังสวิรัติ (Vegetarian) ก็ยิ่งกินง่ายอยู่ง่ายเข้าไปอีก และสุขภาพดีด้วย การเดินขึ้นลงภูเขาเวลาไปไหน มาไหน ก็เป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุด ไม่ค่อยนั่งรถหรือเครื่องอำนวยความสะดวก จะสังเกตเห็นว่า ปัญหาสุขภาพของคนเมืองนี้ไม่ค่อยมีมากเหมือนคนพื้นราบ โดยเฉพาะโรคอ้วนไม่ค่อยเห็นเลย เนื่องจากมีอากาศดี อาหารดี สิ่งแวดล้อมดี จึงทำให้สุขภาพดีมีอายุยืนยาวเจ้าของบ้านที่ข้าพเจ้าพัก นี้ก็รับประทานมังสวิรัติเหมือนกัน ปฏิบัติตัวมาหลายปีแล้วดูหน้าตาสดใสสุขภาพแข็งแรง และเป็นนักปฏิบัติธรรมด้วย

Friday, September 09, 2005

ดาร์จีลิ่ง-สิกขิม (ตอนที่ ๑)

บันทึกความทรงจำครั้งหนึ่งในชีวิต
ณ เมืองดาร์จีลิ่ง (Darjeeling) เมืองในฝันแห่งแดนหิมาลัย
****************

การมาเยือนเมืองดาร์จีลิ่ง (Darjeeling) ครั้งนี้ ตั้งใจมาแสวงหาความสงบใช้เวลาในการฝึกฝนอบรมจิตใจ ประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อพักผ่อนเป็นการส่วนตัว และอ่านหนังสือ, พิมพ์โน๊ตเตรียมสอบ Ancient Indian & Asian Studies ซึ่งได้หอบหิ้วโน๊ตย่อ และข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งหนังสือที่เกี่ยวกับการอีกหลายเล่ม โดยจะพิมพ์ข้อมูลลงเก็บไว้ที่คอมพิวเตอร์ ที่นำติดตัวมาด้วยในครั้งนี้
วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ เวลา ๔.๐๐ น. ออกเดินทางจากวัดไทยพุทธคยา โดยรถจี๊บตาต้าซูโม่ของอินเดียเป็นพาหนะที่จะนำพวกเราไปยังเมืองดาร์จีลิ่ง รัฐเวสท์เบงกอล คณะผู้ร่วมเดินทางมี ท่านพระครูศรีปริยัติสุนทร (พระมหาหนูปัน หรือ หลวงพ่อน้อย) เจ้าอาวาสวัดท่าพระ จ.ขอนแก่น จาก ม.มจร.วิทยาเขตขอนแก่น นักศึกษาปริญญาเอก(Buddhist Studies) มหาวิทยาลัยมคธ, อาจารย์โสวิทย์ นิยมภักดิ์ นักศึกษาปริญญาโท(Buddhist Studies) มหาวิทยาลัยมคธ, จาก ม.มจร.วิทยาเขตขอนแก่น, พระมหาพัน สุภาจาโร นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยมคธ, วัดไทยพุทธคยา (ผู้นำทาง) และข้าพเจ้าพระมหาถนัด อัตถจารี นักศึกษาปริญญาเอก(Buddhist Studies) มหาวิทยาลัยมคธ, พระธรรมทูตวัดไทยกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ผู้บันทึกการเดินทาง

ในการเดินทางครั้งนี้ ได้รับความอุปถัมภ์ด้านภัตตาหารเช้า เพล จากคณะแม่ชีวัดไทยพุทธคยา ได้จัดเตรียมอาหารให้ตั้งแต่เมื่อวาน และนอกจากนี้ก็มีอาหารแห้งประเภทน้ำพริก,มาม่า,ปลากระป๋อง จัดเตรียมให้ไว้ไปฉันที่บนภูเขาสูงเพราะจะต้องหุงหาอาหารช่วยตัวเองตลอดเวลาที่พักที่นั่น
รถวิ่งออกจากวัดไทยพุทธคยา ตั้งแต่เช้ามืดผ่านองค์พระเจดีย์พุทธคยาซึ่งมองเห็นแต่ยอดส่องสว่างด้วยแสงไฟฟ้ามองเห็นได้อย่างชัดเจน ก็ได้แต่ยกมือขึ้นไหว้กราบนมัสการลา ขออำนาจบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญแล้วในแดนพุทธภูมิทั้งในอดีต และปัจจุบัน จงช่วยอำนวยพรให้การเดินทางในครั้งนี้ไปถึงจุดหมายปลายทางด้วยความปลอดภัย และอย่าได้มีอุปสรรคใดๆ มาขวางกั้นถึงที่หมายด้วยความสวัสดี
รถวิ่งเร็วรี่ออกนอกเมืองพุทธคยาเลียบริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราอันแห้งขอดซึ่งมองเห็นแต่เม็ดทรายขาวโพลน เมื่อกระทบกับแสงจันทร์ในคืนวันเพ็ญในวันนั้น ไกลออกไปหน่อยก็ยังมองเห็นทิวเขาดงคสิริเป็นแนวยาว เห็นเป็นเงาเลือนรางในยามใกล้ฟ้าสาง
เช้านี้อากาศเย็นลงพอสมควร เพราะอากาศที่พุทธคยายังไม่ร้อนเหมือนเมืองไทย นี่ก็เดือนมีนาคมแล้วยังรู้สึกหนาวในตอนกลางคืนและจะอุ่นขึ้นในตอนกลางวันเท่านั้น รถวิ่งไปตามถนนสายเมืองคยา กับเมืองนาลันทา ด้วยระยะทางประมาณ ๗๐ กิโลเมตร แต่สภาพผิวการจราจรแย่มาก ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อขรุขระมาก แต่ก็ดีหน่อยที่เป็นตอนเช้ามืดไม่ค่อยมีรถวิ่งสวนทางมาก หรือแออันจอแจด้วยวัว ควาย และผู้คนเดินถนนเหมือนในตอนกลางวัน
ท้องฟ้าเริ่มสาง มองเห็นแสงเงินแสงทองจับขอบฟ้าทางด้านทิศตะวันออก ชาวบ้านเริ่มออกไปทำกิจส่วนตัว ซึ่งเป็นธรรมเนียมของชาวอินเดียในชนบทจะไม่มีส้วม หรือห้องน้ำไว้ในบ้าน เพราะฉะนั้นทุ่งนาจึงเป็นสถานที่ปลดทุกข์ได้ดีที่สุด จึงเป็นที่มาของคำนิยามที่ว่า “อินเดีย เมืองฐานข้างถนน” หรือ “อินเดีย เมืองที่ส้วมใหญ่ที่สุดในโลก (ก็ทุ่งนานี่ครับ)
รถวิ่งผ่านท้องนาอันเวิ้งว้างกว้างไกลมองสุดสายตา และในช่วงนี้เป็นฤดูกาลที่ชาวนาเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว แต่พื้นที่ทำการเกษตรของชาวอินเดียก็ไม่เคยว่างเว้น ชาวไร่ชาวนา เริ่มปลูกผัก และพืชพันธุ์ต่าง ๆ มองดูทั่วท้องทุ่งเขียวชะอุ่มไปหมด บรรยากาศเช้าวันนี้สุดแสนจะสดชื่น มองออกไปเห็นดวงอาทิตย์กลมโตสีแดง กำลังโผล่ผ่านควันเมฆหมอกในยามเช้า บวกกับควันไฟที่กำลังลอยพวยพุ่งขึ้นจากหลังคาบ้านดินเหนียวของชาวนาอินเดีย ซึ่งก็เป็นเวลาหุงหาอาหารในยามเช้า
ควันไฟสีขาวอันเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงชนิดพิเศษของชาวบ้านก็คือ มูลโคซึ่งขยำผสมกับใบไม้แห้ง หรือฟางข้าว แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง แล้วนำมาเป็นเชื้อเพลิง ใช้ก่อไฟหุงหาอาหารได้เป็นอย่างดี และมีคำพูดว่า “จาปาตีของแขก ถ้าไม่ได้ปิ้ง(ย่าง)ไฟที่เกิดจากการเผาไหม้ขี้วัวแห้งแล้วละก็เป็นแค่แป้งลนไฟเท่านั้น” (คือไม่มีรสชาดจริงๆ)
นี่ก็คือความลงตัวหรือความสมดุลย์ทางธรรมชาติของชาวอินเดีย ซึ่งอยู่กับธรรมชาติ กิน,นอนกับธรรมชาติ มีวิถีชีวิตที่ผสมกลมกลืนกับธรรมชาติ โดยไม่พึ่งพาเทคโนโลยีสมัยใหม่เลย
รถวิ่งผ่านเข้าประตูเมืองเห็นกำแพงเมืองราชคฤห์(เก่า) แห่งแคว้นมคธ ที่เคยเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในอดีตสมัยพระเจ้าพิมพิสารผู้ปกครองโดยธรรม และเคยเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกองค์สำคัญของพระพุทธศาสนา และเมืองราชคฤห์นี้ก็เคยเป็นที่เจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในยุคต้นพุทธกาล แต่มาบัดนี้ก็คงเหลือแต่ร่องรอยแห่งความทรงจำในอดีต ได้เล่าขานกันเป็นตำนาน และศึกษาเล่าเรียนกันแต่ในนิทานชาดกต่าง ๆ ในพระไตรปิฎกเท่านั้น ในปัจจุบันก็คงเหลือแต่ซากปรักหักพังไว้ให้เราได้ศึกษา และมารำลึกถึงเพื่อเตือนความทรงจำเท่านั้น
พอรถวิ่งผ่านแนวกำแพงเก่าเข้าไปได้สักระยะหนึ่งก็มองเห็นซากปรักหักพังของวัดเก่าแก่ ซึ่งได้มาขุดค้นพบในภายหลัง และร่องรอยของล้อเกวียนของพ่อค้าพาณิชย์ในสมัยพุทธกาล ซึ่งพวกเราสามารถมองเห็นเป็นรอยร่องลึกเป็นแนวทางเกวียนซึ่งปรากฎเป็นหลักฐานอยู่ในปัจจุบันนี้
และรถได้วิ่งผ่านซุ้มประตูทางขึ้นเขาคิชฌกูฎ พวกเราก็ได้แต่ยกมือไหว้สถานที่ ที่พระองค์เคยประทับที่พระคันธกุฎี บนยอดเขาหัวนกแร้งนั้น และก่อนจากเมืองทางด้านทิศเหนือ รถต้องวิ่งผ่านวัดเวฬุวันมหาวิหาร ซึ่งเป็นพระราชอุทยานสวนไม้ไผ่ของพระเจ้าพิมพิสาร ถวายเป็นวัดแห่งแรกในทางพระพุทธศาสนา ปัจจุบันยังมองเห็นกอไผ่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นตามแนวกำแพงที่สร้างขึ้นใหม่
รถจี๊บตาต้าซูโม่ วิ่งผ่านเมืองราชคฤห์ใหม่ ได้ผ่านหมู่บ้านขายขนมขาชา ขนมที่เก่าแก่ในสมัยพุทธกาล(ขนมเบื้อง) แล้วจากนั้นก็เข้าสู่เขตเมืองนาลันทา โดยไม่มีการหยุดพัก เพราะยังเช้าอยู่
รถจึงวิ่งได้อย่างสบายผ่านบ้านเล็ก เมืองน้อย ผ่านตลาดบ้าง ย่านชุมชนบ้าง จนกระทั่งเวลาล่วงเลยถึง ๘.๓๐ น. ได้เวลาฉันภัตตาหารเช้า จึงได้หยุดพักข้างทางในที่อันเหมาะสมคือ โภชนาลัย (ร้านอาหาร) ของชาวชนบทอินเดียนั่นเอง
ร้านอาหารของชาวชนบทอินเดีย จะไม่ค่อยเปิดแต่เช้า อย่างเช้าที่สุดก็ประมาณแปดนาฬิกาไปแล้ว จึงจะเห็นควันไฟโขมง(จุดฟืนทำจากขี้วัวแห้ง) เพื่อจะปิ้งแป้งจาปาตี และแกงดาล (แกงถั่ว) ซึ่งเป็นอาหารหลักของชาวอินเดีย และที่จะขาดไม่ได้คือจาย หรือ ชาร้อน ๆ ผสมน้ำนมแพะ-นมวัว หรือ ควาย ตามแต่จะหาได้ วิธีชงเขาจะต้มนมสดจนเดือดแล้วจะผสมชาผงมีกลิ่นเครื่องเทศสำหรับเติมชาแล้วเติมน้ำตาลทรายขาว พอหวาน ตามสไตล์อินเดีย ก็จะได้รสชาดชาอินเดียจริง ๆ ขนานแท้ จะมีให้ดื่มได้ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นตามรายทาง,ร้านอาหาร,หรือย่านชุมชน แม้กระทั่งบนรถยนต์ รถไฟ ก็มีไว้บริการเสมอ เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของชาวอินเดีย
พวกเราก็ได้แวะทำภัตตกิจฉันเช้า ซึ่งมีข้าวผัด และปลาสลิดทอด น้ำพริกเผา ที่คณะแม่ชีวัดไทยพุทธคยา จัดเตรียมไว้ให้แต่เมื่อวาน ที่ร้านนี้อาศัยว่ามีโต๊ะเก้าอี้นั่งสบายหน่อย และก็ไม่ลืมสั่งจายร้อน ๆ มาดื่มแก้หนาวด้วย คิดว่าจะฉันจาปาตีร้อน ๆ ในตอนเช้าก็เลยสั่งมาลอง แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มาสักที จนกระทั่งพวกเราฉันเสร็จ มาทราบภายหลังว่ายังนวดแป้งไม่เสร็จ และถ่านไฟยังไม่ร้อนได้ที่ พวกเราก็เลยอดไปฉัน หลังจากทำภัตตกิจเสร็จแล้วก็ออกเดินทางต่อไป
ออกจากร้านอาหารรถวิ่งไปตามถนนสายหลักของเมืองนี้ สภาพถนนดีขึ้นเรื่อย ๆ มุ่งหน้าขึ้นไปทางเหนือของรัฐพิหารอันกว้างใหญ่ไพศาล และแห้งแล้งเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ชาวบ้านส่วนใหญ่ยากจน อาชีพทำการเกษตร แต่สภาพพื้นที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวย ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก จะมองเห็นจากบริเวณที่ใกล้แม่น้ำคงคา แถว ๆ เมืองปัตนะ หรือเมืองปาฏลีบุตรในอดีตที่พระพุทธเจ้าเคยพยากรณ์ไว้ว่าจะประสบอุทกภัย คือภัยอันเกิดจากน้ำท่วม เพราะเวลาที่มีน้ำหลากมากก็จะไม่มีอะไรต้านทานได้ น้ำได้ไหลบ่าท่วมทับไร่นา บ้านเรือนราษฎรเสียหายล้มตายเป็นจำนวนมาก แม้ในปัจจุบันก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่เนือง ๆ
รถวิ่งผ่านทุ่งนาอันเวิ้งว้าง และหมู่บ้านเล็กหมู่บ้านป่า ผ่านเมืองใหญ่น้อยใช้เวลากว่าครึ่งวันจึงพ้นเขตรัฐพิหาร แล้วเข้าเขตรัฐเวสท์เบงกอล (West Bengal) จุดหมายปลายทางของเราในวันนี้คือเมืองสิลิคูรี่ (Siliguri) เป็นเมืองชายแดนด้านเหนือของรัฐเวสท์เบงกอล ก่อนที่จะปีนภูเขาสูงขึ้นสู่เมืองดาร์จีลิ่ง(Darjeeling) เมื่อถึงเมืองนี้แล้วเราต้องให้รถที่เช่ามากลับไปพุทธคยา ส่วนการขึ้นภูเขาที่ดาร์จีลิ่ง ต้องเช่ารถในพื้นที่ที่คนขับมีความชำนาญในการปีนเขาสูงจึงจะปลอดภัย
เมื่อผ่านเข้าเขตรัฐเวสท์เบงกอล บรรยากาศจะเปลี่ยนไป รวมทั้งอาคารบ้านเรือน ต้นไม้ ไร่นา ผู้คน และสำคัญอากาศจะเปลี่ยนเป็นเย็นชื้นขึ้นเรื่อย ๆ เพราะใกล้ภูเขาสูง บ้านเรือนที่เคยเห็นเป็นบ้านอิฐฉาบด้วยดินเหนียวที่เห็นจนชินตาแถวรัฐพิหาร ก็จะเปลี่ยนเป็นบ้านฝาไม้ไผ่สานขัดแตะอย่างสวยงามมีศิลปะในการออกแบบและก่อนสร้างเป็นพิเศษ และรูปร่างหน้าตาของผู้คน ก็จะแตกต่างไปจากคนทางรัฐพิหาร หรือที่เรียกว่าพวกพิหารี ซึ่งก็มีชื่อเสียงในทางดุร้าย ป่าเถื่อน และมีหน้าตาขี้เหร่ อันนี้ก็มีเรื่องเล่าว่า “คนในรัฐพิหารนั้นต้องคำสาปจากพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์นั่นแหละมีคำกล่าวว่า ในรัฐพิหารนี้บนภูเขาก็อย่าให้มีต้นไม้ ในแม่น้ำก็ขอให้มีแต่กรวดแต่ทราย มีผู้หญิงผู้ชายก็ขอให้ขี้ริ้วขี้เหร่(ดุร้ายด้วย)” ก็ไม่ทราบว่าชาวพิหารีไปทำอะไรให้พระเจ้าผิดใจจึงได้ต้องคำสาปเช่นนั้น
แต่เมื่อพิจารณาดูตามคำที่กล่าวนี้แล้วก็ดูจะเป็นจริงในยุคสมัยนี้ คือบนภูเขานั้นหาต้นไม้ไม่มีเลยเป็นแต่เขาหัวโล้นไปหมด สมัยที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปบำเพ็ญทุกรกิริยา แถบภูเขาดงคสิริ นั้นอุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นไม้และพืชพันธุ์นานาชนิด ดังที่ท่านพรรณนาไว้ในพระไตรปิฎกว่า “เป็นสถานที่สงบร่มรื่นด้วยต้นไม้ ป่าเขา ลำเนาไพร ลำธารน้ำใสไหลเย็น เป็นที่รมณียสถาน ส่วนแม่น้ำเนรัญชราก็ไหลเรื่อยเต็มฝั่ง มีท่าลงอาบน้ำเป็นหาดทรายขาวสะอาดราบเรียบ เป็นอันดี”
แต่ปัจจุบันนี้น้ำในแม่น้ำเนรัญชราแห้งขอดมองเห็นแต่เม็ดทรายเต็มแม่น้ำไปหมด และผู้คนในรัฐพิหารนี้ก็มีรูปร่างเล็ก ผิวดำ หน้าตาดุดัน น่ากลัว ดังที่พรรรณาไว้แล้ว
ส่วนคนชาวเมืองสิลิคูรี่ รัฐเวสท์เบงกอลนี้ จะมีหน้าตาเหมือนชาวเนปาล คือเป็นเชื่อสายมองโกลอยเป็นชาวผิวเหลืองเหมือนพวกคนไทย, คนลาว, พม่า, เวียตนาม, จีน, ทิเบต เป็นต้น จะมีความแตกต่างทั้งรูปร่างหน้าตา ภาษาพูด(Nepalese) และความเป็นอยู่โดยทั่วไป
ส่วนลักษณะภูมิศาสตร์ที่เห็นได้ชัดก็เป็นพื้นที่ภูเขาสูง มีแม่น้ำใสไหลเย็นอยู่ตลอดเวลา(เกิดจากหิมะละลายบนยอดเขาสูง) มีต้นไม้ต้นใหญ่ใบดกเขียวชะอุ่มตลอดปี และที่เด่นเป็นเอกลักษณ์คือไร่ชาสีเขียวชะอุ่มมองสุดสายตา ซึ่งก็เป็นวัฒนธรรมของชาวตะวันตกที่นิยมดื่มน้ำชา เมื่ออังกฤษเข้าปกครองอินเดียจึงส่งเสริมให้มีการปลูกใบชาบนภูเขาสูงที่มีสภาพอากาศเอื้ออำนวย จนกลายเป็นอุตสาหกรรมทำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี และปัจจุบันมรดกทางวัฒนธรรมนี้ก็ยังคงอยู่ในประเทศอินเดียและคนอินเดียก็นิยมดื่มชา หรือ จาย อยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง ตราบเท่าทุกวันนี้
เข้าสู่แดนหิมพานต์
พอรถจี๊บวิ่งผ่านตัวเมืองสิลิคูรี่(Siliguri) ที่แออันจอแจไปด้วยยวดยานพาหนะและผู้คนในยามเย็น รถวิ่งออกสู่นอกเมืองต้องวิ่งข้ามสะพานมีแม่น้ำขนาดใหญ่ แต่ฤดูนี้น้ำยังไม่มากเนื่องจากอากาศยังหนาวหิมะยังไม่ละลาย ที่ริมฝั่งเป็นหาดทรายมีรถบรรทุกมาขนเอากรวด และทรายไปใช้ในการก่อสร้าง พอพ้นแม่น้ำก็เข้าสู่เขตอนุรักษ์ป่าไม้ซึ่งเป็นชายป่า มีต้นไม้ใหญ่ ๆ คงจะปลูกเพิ่มเติมในภายหลัง และได้รับการดูแลจากทางรัฐบาลกลางของอินเดีย ที่ติดกับป่าสงวนนี้เป็นค่ายทหารขนาดใหญ่ เพราะว่าเมืองสิลิคูรี่นี้เป็นเมืองชายแดนติดกับเนปาล จึงเป็นที่ตั้งกองทหารของอินเดียเอาไว้คอยปกป้องอธิปไตย
พอผ่านเข้าเขตป่าตรงนี้ก็ทำให้คิดถึงเรื่องในชาดกต่าง ๆ เช่นพระเวสสันดรชาดก ตอนที่พระเวสสันดรถูกเนรเทศออกจากกรุงสีพี แล้วเสด็จดำเนินด้วยพระบาทเปล่าพร้อมด้วยพระนางมัทรี และชาลี-กัณหาไปบำเพ็ญพรตที่ภูเขาคีรีวงกตในป่าหิมพานต์ ก็ต้องผ่านประตูป่า คือป่าเล็ก (จุลพน) ป่าใหญ่ (มหาพน) ในบทประพันธ์กวีท่านจะพรรณนาชื่อต้นไม้ ดอกไม้ รวมทั้งสัตว์ป่าประเภทนกต่าง ๆ และ ลิง ค่าง บ่าง ชะนี เก้ง กวาง เป็นต้น
นี่ก็เหมือนกันที่พวกเราได้พบเห็นเป็นครั้งแรกรู้สึกตื่นต้น และชื่นชมกับธรรมชาติที่แปลกและแตกต่างจากที่เราเคยเห็น มีต้นไม้นานาชนิดที่ไม่เคยเห็นที่พื้นราบ รวมทั้งไม้ดอกบางชนิดที่เราเห็นแต่ในกระถางจนชินตา เช่นกล้วยไม้ชนิดต่าง ๆ ที่บ้านเราซึ่งดูเหมือนเป็นสิ่งประดิษฐ์ของน้ำมือมนุษย์ไปเสียแล้ว แต่นี่เป็นกล้วยไม้ป่า ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีอยู่ทั่วเต็มไปหมดตามกิ่งไม้บ้าง โขดหินบ้าง มีดอกเล็กดอกใหญ่ ต่างสีสรร ต่างพันธุ์ ขึ้นแข่งกันชูช่อล่อสายลมและแสงแดดในยามเย็น เหมือนกับจะเชื้อเชิญให้แขกผู้มาจากแดนไกลได้เชยชม
ผ่านประตูป่า ก็ขึ้นสู่ภูเขาสูงซึ่งเป็นภูเขาที่สูงชันและใหญ่โตติดต่อกันเป็นเทือกหลายร้อยยอด มีชื่อและระดับความสูงต่าง ๆ กัน รวมเรียกว่า “เทือกเขาหิมาลัย” รถจี๊บที่เป็นยานพาหนะของพวกเราวิ่งลัดเลาะไปตามถนนที่แคบและคดเคี้ยวตามไหล่เขาที่สูงชัน มองลงเบื้องล่างก็จะเป็นเหวลึกน่าหวาดเสียว จากเขาลูกนี้ไปยังเขาลูกโน้น และยังมีอีกตั้งหลายลูกซ้อนกันขึ้นไป ซึ่งอยู่ในระดับความสูงจากน้ำทะเลตั้งแต่ ๕,๐๐๐ ฟุต ถึงระดับ ๒๔,๐๐๐ ฟุต
รถจี๊บวิ่งไต่ระดับความสูงบนยอดเขาขึ้นไปเรื่อย ๆ ได้เวลาพลบค่ำพอดี เมื่อพวกเราพ้นเขตสู่ประตูป่าพระอาทิตย์ได้ลับเหลี่ยมเขาไปเสียแล้ว คงทิ้งไว้แต่แสงสีทองเรือง ๆ จับที่ก้อนเมฆก้อนสวยแปลกตาทางทิศตะวันตกเท่านั้น ความมืดเริ่มแผ่เข้าปกคลุมทุกพื้นที่แม้แต่บนภูเขาสูงและเหวลึก คงมีแต่แสงไฟฟ้าและแสงตะเกียงน้ำมันก๊าดตามบ้านเรือนที่มองเห็นแต่ไกล ๆ ที่เริ่มจะส่องแสงระยิบระยับเข้ามาแทนที่แห่งความมืดมิดในยามราตรี
รถจี๊บวิ่งเร็วไปเรื่อย ๆ ตามถนนที่คดเคี้ยว บางครั้งก็มีรถวิ่งสวนทางมาก็ต้องจอดหลบแล้วก็วิ่งต่อไปโดยไม่มีการหยุดพัก มองดูตามไหล่เขาเห็นแต่แสงไฟฟ้าจากหลอดเล็กๆ ลอดออกมาจากช่องหน้าต่างของบ้านหลังเล็กหลังน้อย ที่ปลูกเบียดเสียดกันตามไหล่ถนน, ไหล่เขา, เชิงผาสูง เพราะมีพื้นที่จำกัด บางแห่งก็เป็นโรงแรม, เป็นร้านค้า, บางแห่งก็เป็นเกสท์เฮ้าส์ ที่สร้างไว้บริการนักท่องเที่ยว บางตึกก็สร้างขึ้นเป็นหลายชั้นแล้วแต่จะมีพื้นที่อำนวย มองดูแล้วก็สวยงามไปอีกแบบหนึ่งที่ได้เห็นเมืองดาร์จีลิ่งที่มีแสงสีแปลกตาในยามราตรี
ดาร์จีลิ่ง (Darjeeling) เมืองในฝันบนเทือกเขาหิมาลัย
ดาร์จีลิ่ง (Darjeeling) ดินแดนแห่งภูเขาสูง ไร่ชาสวย น้ำตกใส ดอกไม้งาม น้ำใจดี (ผู้คน) เป็นแดนดินถิ่นไกลในฝันที่คนทั้งหลายใฝ่ฝันที่จะมาเยือนดินแดนมหัศจรรย์บนเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้สักครั้งหนึ่งในชีวิต ขึ้นชื่อว่าภูเขาหิมาลัยน้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก และน้อยคนนักที่จะไม่อยากไปเห็นและสัมผัสดินแดนมหัศจรรย์นี้ ซึ่งด้านความสูงนั้นถือว่าเป็นหลังคาโลกเลยทีเดียว มีเรื่องเล่าขานทั้งเป็นตำนาน และชาดกต่าง ๆ ในคัมภีร์ทางศาสนาทั้งพุทธ และพราหมณ์กันมายาวนาน รวมทั้งเรื่องจริงที่เป็นสารคดี และบันเทิงคดีที่กล่าวขานถึงเทือกเขาหิมาลัย มีให้เห็นกันอยู่เป็นประจำในปัจจุบัน และภูเขาที่มีชื่อเสียงและสูงที่สุดในโลกคือ ยอดเขาเอฟเวอร์เรสท์ (Everest) มีความสูงถึง ๒๗,๔๒๘.๘๐ ฟุต ก็อยู่ในเทือกเขาหิมาลัยนี้ แต่อยู่ในเขตของประเทศเนปาล รวมทั้งยอดเขาดาร์จีลิ่ง ก็อยู่ในเทือกเขามหัศจรรย์นี้ด้วยเหมือนกันแต่อยู่ในเขตประเทศอินเดีย (West Bengal)

เข้าสู่เมืองสวรรค์บนดิน
เมืองดาร์จีลิ่งที่เราจะไปพักในครั้งนี้อยู่บนยอดเขาสูงจากระดับน้ำทะเลถึง ๖,๕๑๐ ฟุต เรียกว่าเป็นเมืองที่อยู่ในระดับความสูงมากทีเดียว มีอากาศหนาวเกือบตลอดปี และเย็นสบายดีในหน้าร้อน แต่หน้าหนาวก็มีหิมะตกเหมือนกัน เป็นเมืองที่มีภูมิประเทศสวยงามด้วยวิวทิวทัศน์มีภูเขาสูงเป็นฉากหลัง ความสลับซับซ้อนของยอดเขาดูแล้วสวยงามแปลกตาในทุก ๆ บรรยากาศที่ได้พบเห็น
เมืองดาร์จีลิ่ง เป็นเมืองที่ชาวอังกฤษขึ้นมาสร้างไว้เป็นเมืองตากอากาศบนยอดเขาสูง ในสมัยที่เข้าปกครองอินเดีย และได้สร้างเมืองกัลกัตตาเป็นเมืองหลวง ในฤดูร้อนอากาศจะร้อนมากบรรดาพวกข้าราชการ หรือข้าหลวงสมัยนั้นจึงได้ขึ้นไปสร้างเมืองดาร์จีลิ่งเป็นเมืองพักผ่อนหนีร้อน และผู้คนก็ตามขึ้นไปสร้างบ้านเรือนอยู่บนยอดเขาแห่งนี้ และจับจองในที่ที่สวยงามเหมาะสมสามารถมองเห็นยอดเขา Everest แห่งเทือกเขาหิมาลัย และยอดเขา Khangchendzonga ในรัฐสิกขิม ที่มีหิมะปกคลุมอยู่ตลอดปีเป็นฉากหลังที่สวยงามที่สุดเมื่อมองจากยอดเขาดาร์จีลิ่ง
เมืองดาร์จีลิ่งจึงเป็นแหล่งดึงดูดใจของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ไฝ่ฝันอยากมาสัมผัสบรรยากาศแห่งความสดชื่นของอากาศในยามเช้า ตอนพระอาทิตย์ขึ้นจะสวยงามที่สุด และความสวยงามของธรรมชาติภูผาสูง ป่าไม้สวย ไร่ชาเขียว น้ำตกใส น้ำใจงาม(สาว) สัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของคนภูเขาซึ่งมีความเชื่อและศรัทธาต่อภูเขาและต้นไม้(เสมือนบรรพบุรุษ) รวมทั้งความเคารพศรัทธาในศาสนาพุทธนิกายมหายาน, ศาสนาฮินดู และความเชื่อดั้งเดิมของคนพื้นเมืองที่นี่อย่างน่ามหัศจรรย์

นั่งรถไฟชมเมือง
ที่เมืองดาร์จีลิ่ง มีสถานีรถไฟที่สูงและเก่าแก่ที่สุด จนได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก จากองค์การยูเนสโก (UNESCO) เมื่อต้นปี ค.ศ. ๒๐๐๐ นี้เอง นั้นก็คือ Toy Train รถไฟขนาดเล็กที่ลากด้วยหัวรถจักรไอน้ำ ชาวอังกฤษเป็นผู้สร้างขึ้นมาบนภูเขาสูงแห่งนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๐๒ และปัจจุบันก็ยังใช้ได้ดีในการรับส่งผู้โดยสารชาวเมืองดาร์จีลิ่ง เมือง Ghoom เมือง Kurseong และเมืองอื่น ๆ ตลอดเส้นทาง จนถึงเมือง Siliguri โดยเฉพาะบริการนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติแค่ขึ้นไปนั่งถ่ายรูปก็คุ้มค่าแล้ว เพราะว่าเป็นของแปลกและมหัศจรรย์จริง ๆ ลำพังแค่สร้างถนนธรรมดาขึ้นไปบนยอดเขาสูงก็ยากลำบากพอดูอยู่แล้ว นี่เป็นการสร้างทางรถไฟ ขึ้นไปบนภูเขาสูงในระดับตั้งแต่ ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ ฟุต ยิ่งเป็นเรื่องมหัศจรรย์ เหมาะสมแล้วที่ได้รับประกาศในฐานะเป็นมรดกโลก (World’s Heritage)
วันนี้เป็นวันที่มีท้องฟ้าแจ่มใสไร้เมฆหมอก เมื่อเรายืนอยู่ที่สถานีรถไฟสามารถมองเห็นยอดเขา Khangchendzonga ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงอันดับสาม ในบรรดายอดเขาสูงแห่งเทือกเขาหิมาลัย อยู่ในรัฐสิกขิม มีหิมะปกคลุมอยู่ตลอดปี ถือเป็นสัญลักษณ์ของเมืองดาร์จีลิ่ง เพราะมองออกไปจะเห็นภูเขาสูงตระหง่านอยู่เบื้องหลังเป็นฉากธรรมชาติแห่งภูเขาหิมะที่สวยที่สุด และวันนี้พวกเราก็ได้บันทึกภาพแห่งความประทับใจไว้เป็นที่ระลึกด้วย
ข้าพเจ้าพร้อมด้วยคณะนัดเจอกันที่สถานีรถไฟดาร์จีลิ่งเพื่อนั่งรถไฟชมเมืองและชมวิวทิวทัศน์สองข้างทาง ผู้ร่วมเดินทางมีพระครูศรีปริยัติสุนทร, อาจารย์โสวิทย์ และลูกศิษย์จาก Himalayan Buddhist Society มีTachi, Dicky and Dawa เป็นผู้นำทางพาไปขี้นรถไฟขบวนพิเศษบริการนักท่องเที่ยวจากสถานีเมืองดาร์จีลิ่ง ไปลงที่สถานีเมืองเคอร์เซี่ยง(Kurseong) ขบวนรถไฟเล็กที่เรียกว่า Toy Train ใช้ลากด้วยหัวรถจักรไอน้ำชื่อขบวน สันตินิเกตัน กำหนดออกเดินทางเวลา ๐๙.๐๐ น. จากสถานีต้นทางซึ่งมีระดับความสูงจากน้ำทะเลถึง ๖,๘๑๒ ฟุต พวกเราได้เดินทางมาถึงสถานีก่อนเวลาเล็กน้อย บรรยากาศในตอนเช้าบริเวณสถานีรถไป จอแจไปด้วยผู้คนที่จะเดินทาง ชาวต่างชาติทั้งฝรั่งและคนพื้นราบที่ต้องการไปเที่ยวสัมผัสความหนาว และตามสองข้างทางรถไฟก็มีแม้ค้าพ่อค้านำของพื้นเมืองออกมาขายเหมือนตลาดสด เช่น พวกผักสดชนิดต่าง ๆ ผลไม้ และพวกอาหารการกิน สารพัดอย่างมีให้เลือก
เด็กนักเรียนเริ่มทยอยเดินกันมาเป็นกลุ่ม ๆ แต่งตัวด้วยเครื่องแบบของแต่ละโรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็ฯโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงจะมีชุดเครื่องแบบประจำโรงเรียนให้นักเรียนได้ใส่กัน มีสีสันสวยงามแปลกตา และดูดีเป็นระเบียบเรียบร้อย
ได้เวลาพนักงานบังคับรถไฟเรียกเราขึ้นไปนั่งตามเลขที่นั่งที่จองไว้ พวกเรานั่งเป็นกลุ่มในโบกี้เดียวกัน และที่พลาดไม่ได้ข้าพเจ้าก็ต้องจองที่ใกล้หน้าต่างเพราะต้องการจะเก็บภาพเด็ด ๆ อยู่แล้ว ทั้งภาพนิ่งและถ่ายวีดีโอด้วย
เมื่อได้เวลาพนักงานโบกธงเขียวให้สัญญาณออกรถได้ พนักงานขับรถไฟเปิดหวูดดัง หวู๊ด ๆๆ และปล่อยควันสีขาวพวยพุ่งออกจากท่อปล่องควัน เป็นกลุ่มควันที่ออกจากหม้อต้มน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้ไอน้ำในการขับเคลื่อนหัวรถจักร และยังใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการต้มน้ำอยู่ด้วยในช่วงที่รถรอเวลาออกเดินทางนั้น พวกพนักงานได้บรรจุถ่านหินเชื้อเพลิงและเติมน้ำอย่างเต็มที่ พวกเรายืนดูทุกขั้นตอนในการทำงาน รถไฟวิ่งไปตามรางเล็ก ๆ ที่คิดเคี้ยวไปตามไหล่เขา และตีคู่ขนานไปกับทางรถยนต์ เพราะว่าไม่มีที่ต้องออกแบบให้รถยนต์และรถไฟวิ่งไปด้วยกันได้บางช่วงรถยนต์ต้องหยุดให้รถไฟผ่านไปก่อน เป็นการท้อยทีถ้อยอาศัยกันไป รถไปวิ่งไปแบบช้า ๆ ประมาณ ๓๐ กิโลเมตร/ชั่วโมง มองเห็นทิวทัศน์สองข้างทางได้อย่างสวยงามและถนัดตา อีกด้านเป็นภูมเขาสูง(เพราะต้องขุดภูเขาทำถนน) และอีกด้านเป็ฯเหวลึก มองลงไปจะเห็นไร่ชาเขียวชอุ่มติดกันเป็นพืด เหมือนกับปูพรมสีเขียวทั้งผืนตามไหล่เขาหล่านั้นบางช่วงก็มีบ้านคนอยู่กันเป็นกลุ่ม และนิยมสร้างบ้านติดไหล่ถนน แต่ก็น่าเห็นใจเพระไม่มรที่ราบ และถ้าอยู่ไกลถนน การคมนาคมก็ไม่สะดวกเลยมาอยู่กันใกล้ ๆ ถนน เวลารถวิ่งสวนกันก็หวาดเสียเหมือนกันกลัวจะไปเฉี่ยวเอาลูกเล็กเด็กอดงที่วิ่งเล่นอยู่ข้างถนน รถไฟวิ่งลงภูเขามาเรื่อย ๆ ผ่านวัดดาลี่ เป็นวัดทิเบตที่ใหญ่มากวัดหนึ่งในบริเวณแถบนี้ทราบว่ามีพระลามะอยู่กันมากกว่า ๓๐๐ รูป เป็นสำนักเรียนพระธรรมคัมภีร์ของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนิกายกัมมะปะ (นิกายหมวกดำ) รถวิ่งผ่านมองเห็นแต่หลังคาตึกขนาดใหญ่ มุงด้วยกระเบื้องสีส้มตัดกับท้องฟ้าสีครวามสร้างอยู่บนภูเขาอีกด้านด้วยสถาปัตยกรรมแบบทิเบต สีสันสวยงามน่าเลื่อมใส
รถไปเข้าจอดรับ-ส่งผู้โดยสารอีกครั้งที่สถานีเมืองกูม (Ghoom) เป็นสถานีรถไฟที่สูงที่สุดในโลก (บันทึกไว้ในสถิติ) ที่เมืองนี้ถือว่าเป็นชุมทางถ้าเดินทางโดยรถยนต์ก็จะเป็นสี่แยก คือทางหนึ่งไปสิกขิม ทางหนึ่งไปประเทศภูฏาน อีกทางหนึ่งไปเมืองสิลิคูรี่ (ไปกัลลัตตา) และอีกทางหนึ่งไปเมืองดาร์จีลิ่ง รถออกจากสถานีนี้วิ่งไปตามไหล่เขาเหมือนเดิม แต่บรรยากาศที่สวยงามก็ทำให้ตื่นตาตื่นใจ แบะคอยบันทึกภาพอยู่เรื่อย ๆ

เมืองเคอร์เซี่ยง (Kurseong)
รถวิ่งเข้เทียบชานชาลาสถานีรถไฟเมืองเคอร์เซี่ยงเวลาประมาณ ๑๐.๓๐ น. พวกเราออกเดินชมตลาดซึ่งเหมือนกับร้านค้าที่เมืองดาร์จีลิ่ง สินค้าก็เหมือน ๆ กัน เดินชมไปเรื่อย ๆ จนถึงเวลาเพล จึงได้แวะร้านอาหารที่ดี ที่สุดของเมืองนี้ และได้สั่งอาหารอินเดียวแบบเต็มสูตรเลยทีเดียว เพราะไหน ๆ ก็มาถึงสถานที่จริงแล้วนี่ และอีกอย่างก็ตั้งใจจะเลี้ยงลูกศิษย์ที่มาอยู่แล้ว เพราะนานทีเขาจะได้มีโอกาสออกมาเปิดหูเปิดตาตามประสาเด็กบนภูเขาที่ไม่ค่อยจะมีโอกาสได้เดินทางไปไหน
เมืองเคอร์ซี่ยง ได้รับษายาว่าเป็นดินแดนแห่งดอกกล้วไม้ขาว (Land of White Orchids) เพราะว่ามีศูนย์เพราะพันธุ์ไม้ป่าเมืองหนาวมีความชำนาญพิเศษเรื่องการเพาะพันธุ์ดอกกล้วไม้ขาว และเป็นที่ตั้งของสถาบันการป่าไม้รัฐเบงกอลตะวันตก นอกจากนี้จุดเด่นของเมืองนี้คือ Kurseong Tower หอคอยชมเมือง เป็นทั้งเสาอากาศของการสื่อสารด้วยซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสูงมองเห็นเป็นสัญลักษณ์แต่ไกล พวกเราเดินชมเมืองจนทั่ว ได้เวลาประมาณบ่าย ๓ โมงกว่า ๆ แล้วนั่งรถธรรมดากลับได้บรรยากาศที่สวยงาม ชมบ้านเมือง, ชมภูเขา, ไร่ชาสวย และได้ถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก

บรรพบุรุษของคนภูเขา

ชาวดาร์จีลิ่ง และชาวคนภูเขาทั้งหลายมีความเชื่อว่า ภูเขา Khangchendzonga มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่สิงสถิตย์ของเทพเจ้าเหล่าเทวดาทั้งหลาย และถือว่าเป็นต้นกำเนิดหรือบรรพบุรุษของชนชาว Lepchas ในรัฐสิกขิม ในตอนเช้า ๆ เมื่อเวลาพระอาทิตย์ขึ้นแสงเงินแสงทองจะตกกระทบบนยอดเขาซึ่งมีหิมะปกคลุมจะเกิดการหักเหของแสง และเปลี่ยนสีไปเรื่อย ๆ จากสีเงินยวงในยามฟ้ามืดสลัว ๆ ก็จะกลายเป็นสีทองขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามแสงอาทิตย์ที่ร้อนแรงขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งพระอาทิตย์ผ่านชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นไปด้วยหมอกควันแล้วก็จะมองเห็นภูเขาหิมะนี้ด้วยสีธรรมชาติ คือเป็นสีขาวโพลนของหิมะและเหลี่ยมมุมของยอดเขาตัดกับท้องฟ้าสีน้ำเงินจะมองเห็นอย่างเด่นชัดน่าเกรงขาม ซึ่งมีความสูงถึง ๘,๕๙๘ เมตร หรือ ๒๖,๖๕๓.๘๐ ฟุต
ข้าพเจ้ามองเห็นภูเขาในเช้านี้จึงเกิดแรงบันดาลใจใคร่จะพรรรณาเป็นภาษาศิลป์ แต่ก็จนใจที่ภาษากวียังไม่ถึงขั้นก็เลยได้เก็บมาฝากเพียงแค่นี้ก่อน
โอ้…คังเซ็นชุงก้า(Khangchendzonga) น่าเกรงขาม ภูเขาสูงเด่นงามยามฟ้าใส
มองผ่านเมฆม่านหมอกเห็นแต่ไกล ศูนย์รวมใจคนภูเขาเหล่าเทวา
ภูผาสูงแดนดินถิ่นกำเนิด เป็นทีเกิดสัตว์นานาและอาหาร
เป็นที่เกิดน้ำตกใสไหลเป็นธาร เป็นที่รวมอาหารของปวงชน
เป็นศูนย์รวมสรรพสิ่งมีชีวิต ผลผลิตข้าวกล้าในหน้าฝน
ทั้งวัว ควาย พืชไร่และผู้คน ได้รับผลจากคีรีมีน้ำกิน
ภูผาสูงแดนดินถิ่นศักดิ์สิทธิ์ เทพสถิตปกป้องทุกแห่งหน
ภูเขาสูงที่อาศัยของผู้คน ในกมลเปี่ยมสุขทุกเวลา
ยอดคีรีมีสีหิมะขาว แสงแวววาวเวลามองท้องฟ้าใส
สัญลักษณ์บริสุทธิ์ดุจดวงใจ อยู่ภายในคนภูเขาเหล่าคนดอย
ยิ่งได้ยลยิ่งดลใจให้ได้คิด ในวิถีชีวิตคนภูผา
ด้วยเคารพเชื่อมั่นและศัรทธา ทุกเวลาค่ำเช้าเฝ้าไหว้วอน
เก็บดอกไม้ของหอมนอบน้อมจิต ไว้รอบทิศบนผูภาหน้าสิงขร
ทั้งสวดมนต์ก้มกราบตัวราบนอน เพื่อขอพรจากพระเจ้าเฝ้าอวยชัย
ได้ยินชื่อเลื่องลือมานานนัก เห็นประจักษ์เป็นบุญตาน่าฉงน
พลันเมฆบังหายลับในบันดล ชีวิตคนก็กลับหายคล้ายเมฆลอย
ได้พบเห็นเป็นบุญตาในครานี้ สุดเหลือที่จะพรรณนาภาษาศิลป์
ภูเขาสูง ไร่ชาสวย น้ำตกริน อีกเป็นถิ่นคนงามน้ำใจดี.

ทะเลหมอกยามเช้า, สันติเจดีย์ วัดญี่ปุ่น, เกสท์เฮ้าส์



เมืองดาร์จีลิ่ง,ยอดเขาคังเชนซุงก้า, รถไฟ Toy Train